Special Story » กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับ 2 เอเชีย “เมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน”

กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับ 2 เอเชีย “เมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน”

5 มกราคม 2019
0

alivesonline.com : สมาคมการประชุมระหว่างประเทศ ยก กรุงเทพมหานคร ขึ้นอันดับ 2 เอเชียเมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน เป็นรอง เกียวโต ญี่ปุ่น ด้วยคะแนนรวม 58% พร้อมให้คะแนน “ทีเส็บ” ด้านดำเนินงาน 69% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 53% ด้าน “ทีเส็บ” เดินหน้าผลักดันการสร้างมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue เป็นครั้งแรก มุ่งหวังพัฒนาสถานที่จัดงานที่มีความแปลกใหม่ รองรับความต้องการจัดงานที่หลากหลาย ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน 20 แห่ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการประชุมระหว่างประเทศ (International Congress and Convention Association : ICCA) จัดพิธีมอบรางวัลเมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เมืองโกเธนเบิร์ก(Gothenburg) ประเทศเทศสวีเดน เมืองโคเปนเฮเกน(Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก เมืองเรคยาวิก(Reykjavík) ประเทศไอซ์แลนด์ เมืองออสโล (Oslo) ประเทศนอร์เวย์ และเมืองอุปซอลา (Uppsala) ประเทศสวีเดน ตามลำดับ

การจัดรางวัลดังกล่าวอยู่ภายใต้ The Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) ซึ่งเป็นโครงการจัดอันดับเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดงานที่มีความสามารถโดดเด่นเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศยุโรปและสแกนดิเนเวียที่เป็นสมาชิกและได้รับการสนับสนุนจาก ICCA ซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดงานอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันบริหารงานโดยพันธมิตรหลัก 4 องค์กร คือ ICCA, MCI Group, IMEX และ European Cities Marketing (ECM) ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จักในแวดวงอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าทั่วโลก

  • กรุงเทพฯ อันดับ 21 ของโลกตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 ด้าน

จากรายงานของ The Global Destination Sustainability (GDS) พบว่าในทวีปเอเชียนั้น คะแนน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น อันดับที่ 2 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อันดับที่ 3 เมืองโกยาง สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อันดับ 4 เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และอันดับที่ 5 เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์

กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับที่ 21 ของโลก ผ่านการให้คะแนนตามตัวชี้วัดทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) 14 ข้อ, ตัวชี้วัดด้านสังคม (Social Performance) 4 ข้อ, ตัวชี้วัดด้านความสามารถของการให้บริการ (Supplier Performance) 8 ข้อ และตัวชี้วัดด้านความสามารถขององค์กรสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมของแต่ละประเทศ (CVB Performance) 12 ข้อ

สำหรับ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้คะแนนรวมทั้งสิ้น 58% ทั้งยังมีคะแนนสูงสุดในด้านองค์กรส่งเสริมการประชุม โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” มีคะแนนการดำเนินงาน 69% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนของทั่วโลกคือ 53%

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ” กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร และ “ทีเส็บ” เพิ่งเข้าร่วมการจัดอันดับในครั้งนี้เป็นครั้งแรกและเป็นผลที่น่ายินดีที่แสดงว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับมาตรฐานและสิ่งแวดล้อมสำหรับการประชุม

“ปัจจุบัน นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างให้ความสนใจด้านความยั่งยืนมาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญของโลก นอกจากนี้ GDS ยังเชื่อมโยงอยู่กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย การจัดอันดับครั้งนี้จึงจะเป็นประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรมไมซ์และประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน”

ล่าสุดจากรายงานของ ICCA และรายงานของ the Global Association of the Exhibition Industry (UFI) ในปี 2560 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชียด้านการจัดประชุมนานาชาติ และอันดับที่ 7 ของเอเชียด้านการแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป็นที่หนึ่งของอาเซียนทั้งในด้านการประชุมและการแสดงสินค้า

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ”

  • “ทีเส็บ” เร่งผลักดันมาตรฐาน Special Event Venue

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติปัจจุบันถือเป็นรูปแบบการจัดงานที่ได้รับการยอมรับจาก องค์การส่งเสริมการจัดประชุม หรือ Convention and Visitor Bureau (CVB) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชั้นนำจากทั่วโลกว่า เป็นงานที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมแก่เมืองและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายประเทศทั่วโลกมีแนวทางการพัฒนาการสร้างแบรนด์ หรือสร้างเมือง ผ่านการนำงานเมกะอีเวนท์ระดับโลกมาจัดในประเทศ โดยเทรนด์ของงานประเภทเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาทิ งานเฟสติวัลและอีเวนท์ประเภท 4.0 (Tech Show) งาน creative & lifestyle และงานเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

“ในส่วนของประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการจัดงานเมกะอีเวนท์ได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงลึกของไทยในการสร้างงานเมกะอีเวนท์ระดับโลกพบว่าไทยมีศักยภาพด้านการจัดงานที่สร้างประสบการณ์ประเภท หรือ Experiential Event การออกแบบไลฟ์สไตล์ และเทศกาลดนตรี เนื่องด้วยมีศักยภาพด้านพื้นที่และผู้จัดงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประกอบกับไทยมีพื้นที่ที่มี Scenic Impact จำนวนมาก ทำให้งานประเภทนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดมา”

ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างปี 2561-2562 ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติ รวม 17 งาน ครอบคลุมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา บันเทิง และเทคโนโลยี อาทิ L’Etape Thailand by Le Tour de France, World Robot Olympiad 2018, Chiangmai Design Week 2018, Bangkok Art Bienale 2018, Thailand Art Bienale 2018, Bangkok Design Week 2019, Bangkok Entertainment Fest: Bangkok Comicon 2019 & Thailand Comicon 2019, และงาน Bangkok Entertainment Fest: Thailand Toy Expo 2019

จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้จากการจัดงานเมกะอีเวนท์ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนนักเดินทางเมกะอีเวนท์ที่เข้ามาประเทศไทยประมาณ 8.5 แสนคน สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 จากเทรนด์การจัดงานเมกะอีเวนท์ที่เพิ่มมากขึ้น ได้มีการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการจัดงาน โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักเดินทางเมกะอีเวนท์ที่เข้ามาประเทศไทยประมาณ 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจของประเทศไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับการสร้างการรับรู้ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการจัดงานของโลกนั้น “ทีเส็บ” ได้วางแนวทางการดึงงานระดับโลกที่มีชื่อเสียง โดยเน้นงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของมวลชน (Mass Participation) ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ ตอบสนองนโยบายการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในการร่วมเป็นเจ้าภาพงานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการจัดงาน สร้างโอกาสให้เมืองและท้องถิ่นได้เรียนรู้และพัฒนาบริการและมาตรฐานการจัดงานของไทยให้เทียบเท่าระดับโลก

“ทีเส็บ” เห็นเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านการพัฒนาสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐาน รองรับการจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้จัดงานที่ต้องการความแปลกใหม่ จึงได้ริเริ่มการสร้าง มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standards : TMVS) ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue ในปี 2561 เป็นครั้งแรก โดยหลักเกณฑ์ในการชี้วัดมาตรฐานสถานที่จัดงานกิจกรรมพิเศษนี้จะพิจารณาในเรื่องโครงสร้างเชิงกายภาพ การสนับสนุนการจัดการอย่างยั่งยืน และในด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นด้านที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับปี 2561 “ทีเส็บ” ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษจำนวน 20 แห่ง