alivesonline.com : ไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอาหารพร้อมรับประทาน หรือ Ready To Eat (RTE) เท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมด้านอาหารอีกด้วยสำหรับ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น และเบเกอรีอบสดในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยเน้นช่องทางจำหน่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นหลักประมาณ 80-90% ขณะที่มีการส่งออกประมาณ 10-20% ไปยังประเทศญี่ปุ่น เมียนมา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา กลุ่มประเทศยุโรป และอื่น ๆ
จวบจนวันนี้ “ซีพีแรม” ก้าวย่างบนเส้นทางสายอุตสาหกรรมอาหารมาแล้วถึง 30 ปี โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์องค์กรทุก ๆ 5 ปี เช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย นั่นหมายความว่านับตั้งแต่ปี 2561-2565 ถือเป็นยุคที่ 7 ของ “ซีพีแรม” ซึ่ง ‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้ประกาศทิศทางองค์กรว่าเป็น “ยุคศรีอัจฉริยะ” เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจ Food Provider มาตรฐานโลกในการมอบคุณค่าสู่สังคมและมุ่งสู่องค์กรที่ยังยืน โดยใช้คำว่า “ศรี” คือความดีงาม และคำว่า “อัจฉริยะ” คือความเก่งเฉลียวฉลาด “ศรีอัจฉริยะ” จึงมีพร้อมด้วย “ความดีคู่ความเก่ง” ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) โดยเน้น แนวทาง 3S คือ FOOD SAFETY (ความปลอดภัยของอาหาร) FOOD SECURITY (ความมั่นคงของอาหาร) และ FOOD SUSTAINABILITY (ความยั่งยืนของอาหาร)
เป้าหมายของ “ซีพีแรม” ต่อจากนี้ไปอีก 5 ปีจึงเป็นเรื่องของการขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นปีละ 15% โดยใช้เงินลงทุน 4 พันล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานใหม่ 2 แห่งในจังหวัดลำพูน และสุราษฎร์ธานี ส่วนอีก 3 แห่งตั้งอยู่ในที่ตั้งเดิมคือจังหวัดปทุมธานี ชลบุรี และขอนแก่น ทำให้มีกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้น 50-70% ในขณะที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางด้านยอดขายรวมไม่น้อยกว่าปีละ 15% จากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น 65% และเบเกอรีอบสด 35%
-
ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ
แนวคิดในการก่อสร้างโรงงานใหม่ครั้งนี้ไม่เน้นสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่มากนัก เพราะต้องการสร้างวงจรเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้บริษัทฯ เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงสามารถกระจายสินค้าจากโรงงานผลิตไปสู่ร้านค้าในเวลารวดเร็วเพียง 2-3 ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องใช้เวลามากถึง 6-7 ชั่วโมง ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าใหม่ ๆ ผ่านทางร้านอาหาร ภัตตาคาร คอนโดมิเนียม รวมถึงตู้หยอดเหรียญ (Vending Machine) ครัวเคลื่อนที่ (Food Van) ซีพีแรมแคทเทอริ่ง และอี-คอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมโดยใช้งบประมาณ 1% ของรายได้ หรือประมาณ 100-150 ล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 3 ระดับคือ Basic Research การวิจัยพื้นฐานเพื่อหาคุณสมบัติของสินค้า จากนั้นจึงเป็นระดับ Apply Research คือการนำงานวิจัยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางครั้งอาจพัฒนาได้มากกว่า 100 รายการ สุดท้ายคือ Product Development คือการผลิตสินค้าออกจำหน่าย โดยงานวิจัยหนึ่งชิ้นสามารถผลิตเป็นเป็นสินค้าได้ถึง 10 รายการ โดยในปี 2561 มีรายการสินค้าที่รอจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วถึง 20 รายการ”
นั่นจึงทำให้แต่ละปี “ซีพีแรม” มีสินค้าอาหารใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 23% โดยปัจจุบันมีสินค้าอาหารภายใต้แบรนด์ เจด ดราก้อน, เลอแปง, เดลี่ไทย และเดลิกาเซีย, ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น รวมแล้วมากกว่า 900 รายการ!
‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ บอกด้วยว่า ยุคที่ 6 ของ “ซีพีแรม” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปคือ “ยุคครบเครื่องด้วยนวัตกรรม” ซึ่งมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศและเติบโตอย่างมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเห็นความแปลกใหม่ตลอดเวลา จึงทำให้บริษัทฯ ต้องมีการสลับรายการอาหารเก่า พร้อมนำเสนอรายการอาหารใหม่ตลอดเวลา โดยรายการอาหารหลัก 5 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคคือ ข้าวผัดกะเพราหมู ข้าวผัดกะเพราไก้ ข้าวผัดปู ผัดซีอิ๊ว และข้าวไข่เจียวกุ้ง อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยในแต่ละด้าน เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น “ซีพีแรม” ยังจะเริ่มดำเนินการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น (Chilled Food) ในโรงงานแต่ละพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสในทางเลือกมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ฐานการผลิตจากโรงงานปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านอุณหภูมิแช่เย็นประมาณ 0-5 องศาเซลเซียส ทำให้มีกำหนดหมดอายุเพียง 3-5 วัน แต่ใช้เวลาอุ่นก่อนรับประทานเพียง 1.5 นาที จึงทำให้ต้องขนส่งภายในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Food) มีการผลิตภายในโรงงานทั่วประเทศ เพราะใช้อุณหภูมิในการแช่แข็ง -18 องศาเซลเซียส ทำให้มีกำหนดหมดอายุมากกว่า 1 ปี โดยต้องใช้เวลาอุ่นก่อนรับประทานประมาณ 5-6 นาที นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่พร้อมจะดำเนินการให้เห็นผลตั้งแต่ปี 2562 คือการผลิตอาหารประจำถิ่นในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้น 25-30% ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
การก้าวเข้าสู่ยุคที่ 7 ของ “ซีพีแรม” ยังถือเป็นแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย CP 4.0 เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ สอดคล้องกับนโยบาย THAILAND 4.0 ซึ่งถึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชีย โดยมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ (Robot) มาร่วมทำงานภายในโรงงาน ณ จุดที่บุคลากรต้องทำงานหนักและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ พร้อมกันนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับทุกระบบงานด้วยการยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
-
ยกระดับโรงงานขอนแก่นผลิตสินค้าครบวงจร พร้อมผุดโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต”
ในส่วนของโรงงานขอนแก่น “ซีพีแรม” ให้ความสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมีการผลิตครบวงจรทั้งอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น วันละ 2 แสนกล่อง รวมถึงเบเกอรีอบสด วันละ 5 แสนชิ้น ทั้งยังถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีความสวยงามและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมจะเปิดโรงงานบางส่วนให้ผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษานวัตกรรมต่าง ๆ
ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น “ซีพีแรม” ยังได้เปิด โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ณ แปลงเพาะปลูกเกษตรกรบ้านหนองทุ่ม ต.โนนแดง อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ซึ่งมี ‘ผู้ใหญ่ประหยัด อุสาย’ เป็นผู้เข้าร่วมโครงการรายแรกในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจาก ‘อดิเรก ใหม่มงคล’ นายอำเภอโนนศิลา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และให้คำแนะนำในการเพาะปลูกกะเพรา การส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กล่าวถึงโครงการ “เกษตรคู่ชีวิต” ว่า “ซีพีแรม” จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมาเพราะเห็นว่าสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบที่บริษัทฯ จำเป็นต้องใช้ หากเกษตรกรสามารถผลิตได้ตรงตามความต้องการตลาดจะสามารถยกระดับราคาให้สูงขึ้นได้ จึงให้ความรู้ด้านวิชาการเกษตรและการตลาด รวมถึงสนับสนุนเมล็ดพันธุ์กว่า 30 สายพันธุ์ ตลอดจนอุปกรณ์บางชนิด เช่น ผ้าใบคลุมแปลง ซึ่งหากเกษตรกรสามารถผลิตได้ตามมาตรฐาน GAP ที่กำหนด บริษัทฯ พร้อมรับซื้อทั้งหมดโดยให้ราคาสูงกว่าตลาด เพื่อเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและประโยชน์ร่วมกัน เพราะช่วยให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบจากต่างถิ่น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ใบกะเพราเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารกล่องทั่วประเทศถึงวันละ 1 ล้านตัน ในขณะที่โรงงานขอนแก่นมีความต้องการวันละ 50-60 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตได้เพียงวันละ 20 กิโลกรัมจากพื้นที่ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ 40 ไร่
ในอนาคตอันใกล้ “ซีพีแรม” ยังพร้อมจะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารกล่องซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างงานและอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ.