alivesonline.com : กว่า 40 ปีที่สะสมชื่อเสียงด้านความโดดเด่นของรสชาติอาหารเวียดนามจากร้านค้าห้องแถวเล็ก ๆ ใจกลางเมืองอุดรธานี จนทำให้ชื่อชั้นของ “VT แหนมเนือง” โด่งดังไม่เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั่วประเทศ จนแขกผู้มาเยือนจำต้องมาลองลิ้มชิมรส ทั้งยังต้องอุดหนุนกลับไปเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดอีกด้วย
มาวันนี้ “VT แหนมเนือง” กำลังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกคำรบหนึ่ง เมื่อ ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ ประธานกรรมการ บริษัท วีทีแหนมเนือง จำกัด เลือกพื้นที่ 19 ไร่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4-5 ถ.มิตรภาพ อุดรธานี-ขอนแก่น ต.บ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี พัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่รวบรวมทั้งภัตตาคารอาหารเวียดนาม แหล่งสินค้าของดีเมืองอุดรฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโรงงานผลิตแหนมเนืองเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ “VT แหนมเนือง COMMUNITY” โดยใช้เงินลงทุนกว่า 650 ล้านบาท พร้อมปักหมุดสำคัญในการมุ่งเป้าสู่การเป็น “แลนด์มาร์คแห่งภาคอีสาน”
-
ไขปม…ทำไมจึงเป็น VT แหนมเนือง
แม้ทุกวันนี้แบรนด์ร้านอาหารเวียดนามแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่เหล่านักชิมต่างให้ความสนใจ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ต่างไม่เคยรู้มาก่อนว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเป็น “VT แหนมเนือง”
ปริศนานี้ถูกเฉลยจาก ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ ว่า มาจากชื่อคุณพ่อคุณแม่ของเขาเอง
“ผมเกิดที่จังหวัดหนองคาย เป็นบุตรคนที่ 5 จากทั้งหมด 8 คนของ คุณพ่อตวน แซ่โฮ กับ คุณแม่วี แซ่เรือง ซึ่งเป็นชาวเวียดนามผู้อพยพหนีภัยสงครามจากบ้านเกิดเข้ามาพำนักอาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยช่วงแรกคุณพ่อประกอบอาชีพเป็นช่างทองในร้านทองแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ส่วนคุณแม่เป็นแม่ค้าหาบเร่ โดยต้องหาอาชีพเสริมอื่นเพื่อมาจุนเจือครอบครัวที่มีลูกถึง 8 คน และนั่นคือกำเนิดของแหนมเนืองที่ต่อมาคนไทยคุ้นเคยกัน”
ในช่วงแรก ‘คุณแม่วี’ ได้ใช้ฝีมือปรุงอาหารที่ได้รับการฝึกฝนจากคุณยาย ทำอาหารเวียดนามหาบขายในละแวกบ้าน โดยในขนะนั้นมี “บั่นแบ๋ว” หรือขนมถ้วยแบบเวียดนาม และ “แนมเหนือง” หรือเมี่ยงหมูย่าง ทั้งครอบครัวต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ในการเปลี่ยนจากร้านหาบเร่เป็นร้านห้องแถวหนึ่งคูหาเมื่อปี 2511 ในชื่อ “แหนมเนือง” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “แนมเหนือง” ในภาษาเวียดนามนั่นเอง
“เมื่อผมอายุ 14 ปี ได้แยกตัวไปทำงานเป็นช่างกลึง แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นช่างนาฬิกาช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะแต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นลูกเจ้าของร้านตัดเสื้อสูท จึงเห็นโอกาสดีในงานเสื้อผ้า แต่ชีวิตก็ต้องเข้าสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งเมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ทำให้จังหวัดหนองคายกลายเป็นทางผ่านที่คึกคัก คนกรุงเริ่มสั่งอาหารแบบห่อกลับบ้านมากขึ้น ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลไทยได้มอบสัญชาติไทยให้ผม เลยทำให้ครอบครัวมีโอกาสสร้างธุรกิจของตัวเอง”
ในช่วงแรกร้านแหนมเนืองของครอบครัวใช้ชื่อว่า “แดง แหนมเนือง” ตามชื่อของพี่สาวเป็นคนบริหาร โดยมีพี่น้องต่างแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ส่วนตัวผมมีหน้าที่ทำการตลาดและขายสินค้าที่อุดรฯ โดยใช้หนองคายเป็นฐานหลักในการผลิตแหนมเนือง จนเมื่อปี 2540 ปี ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ จึงออกมาสร้างแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “VT แหนมเนือง” เป็นเอกเทศแยกออกจาก “แดง แหนมเนือง” โดยในส่วนของ “แดง แหนมเนือง” ยังคงอัตลักษณ์ว่า “หากจะกินแหนมเนืองจะต้องมากินเฉพาะที่หนองคาย” แต่ในความคิดของ ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ กลับมองว่า “อาหารต้องวิ่งไปหาลูกค้า หากจะรออย่างเดียวมันช้าเกินไป”
สาเหตุที่ ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ แยกตัวออกมาจาก “แดง แหนมเนือง” ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เป็นเพราะตัวเขามองเห็นโอกาสทางการตลาดด้วยปัจจัยบวกสำคัญคือ อุดรธานีเป็นจังหวัดใหญ่กว่าจังหวัดหนองคาย ทั้งยังมีโรงแรม มีกรุ๊ปทัวร์และกรุ๊ปสัมมนาเดินทางเข้ามาในจังหวัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนก็มีการใช้จ่ายสูงกว่า ประการสำคัญคือ อุดรธานียังไม่มีร้านอาหารเวียดนามในลักษณะนี้ !
-
อาหารสูตรดั้งเดิม แต่คิดใหม่ทำใหม่ในเชิงกลยุทธ์
“VT แหนมเนือง” ถือเป็นร้านอาหารเวียดนามแห่งแรกในอุดรธานีซึ่งแม้จะแยกตัวมาจาก “แดง แหนมเนือง” แต่สินค้าของ “VT แหนมเนือง” ยังคงใช้สูตรและโรงงานผลิตเดียวกับ “แดง แหนมเนือง” โดยมีจุดต่างสำคัญคือกลยุทธ์ในการบริหารงานด้วยบริการที่รวดเร็ว ลูกค้าไม่ต้องรอนานแม้กระทั่งระบบเงินทอนซึ่งพัฒนาระบบที่พัฒนาขึ้นทำให้สามารถคิดและทอนเงินลูกค้าได้เสร็จภายใน 1 นาที ขณะเดียวกันยังได้นำระบบการขายแบบเดลิเวอรี (Delivery) มาใช้ โดยแรกเริ่มให้พนักงานร้านจัดส่งสินค้าในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องเส้นทางและมักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นผู้ส่งสินค้าแทน เพราะชำนาญในเส้นทางและรวดเร็วกว่า
“จุดขายของ VT แหนมเนือง เกิดขึ้นหลังจากที่ผมแยกตัวออกมาจากธุรกิจครอบครัว โดยเน้นการบริการที่รวดเร็ว มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคอาหารเวียดนามทั่วประเทศ ซึ่งถึงแม้จะเป็นสินค้าอาหารสด เช่น แหนมเนือง เปาะเปี๊ยะ หมูย่างเวียดนาม หมูทอดทรงเครื่อง กุ้งพันอ้อย แต่สามารถพัฒนาจนสามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทั่วประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่าเคล็ดลับที่ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือการนำระบบการจัดส่งสินค้าแบบเดลิเวอรีมาใช้เป็นกุญแจสำคัญ”
“ร้าน VT เริ่มขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ช่วงนั้นผมกู้ธนาคารมาลงทุนเปิดร้าน 2 ล้านบาท ถูกดอกเบี้ย 18.5% เศรษฐกิจตอนนั้นเหมือนคลื่นน้ำแรง เราก็ต้องค่อย ๆ เกาะริมฝั่งไปเพื่อรอเวลาน้ำนิ่ง เพราะด้วยความเชื่อมั่นในธุรกิจอาหารที่คนต้องกินทุกวัน ทำให้ค่อย ๆ ปลดหนี้ได้สำเร็จ จนกระทั่งปี 2545 จึงได้เริ่มเดินเครื่องธุรกิจอย่างเต็มกำลัง ทำให้ปัจจุบันมียอดขายวันละ 1-2 ล้านบาท พร้อมด้วยสาขาทั่วประเทศมากกว่า 60 สาขา ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาระบบงานบริการให้สอดรับกับชีวิตคนยุคใหม่ ทั้งเดลิเวอรีและไดร์ฟ-ทรู รวมทั้งใช้เงินทุน 650 ล้านบาท พัฒนาโครงการ VT Community Mall ในจังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าแหนมเนือง รวมทั้งเป็นแหล่งรวมสินค้าโอทอปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
-
VT แหนมเนือง COMMUNITY ภาพในฝันที่เป็นจริง
‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ เปิดใจถึงการตัดสินใจใช้งบประมาณ 650 ล้านบาทลงทุนในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าที่ตั้งร้าน “VT แหนมเนือง” ในปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่ของธรณีสงฆ์คือ วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ด้วยการเช่าพื้นที่ระยะยาวและสามารถต่อสัญญาได้ โดยเริ่มจาก 1 คูหาและขยับขยายมาเรื่อย ๆ จนเป็น 10 คูหา รวมพื้นที่มากกว่า 4 ไร่ แต่ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในเรื่องที่จอดรถ ขณะเดียวกันยังมั่นใจว่าธุรกิจอาหารเวียดนามจะสามารถเจริญเติบโตได้อีกมาก การพัฒนาโครงการ “VT แหนมเนือง COMMUNITY” จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาธุรกิจให้มีลักษณะเป็นจุดบริการแบบ One Stop Services โดยจะเป็นสถานที่รวบรวมสินค้าทุกชนิด ทั้งจากร้าน “VT แหนมเนือง” รวมถึงสินค้าพื้นบ้านและสินค้าโอทอปจากชาวบ้าน ชุมชน และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวสามารถเดินหาซื้อสินค้าของที่ระลึกจากเมืองอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างครบถ้วนในสถานที่เดียวเท่านั้น
ในวันนี้ที่โครงการ “VT แหนมเนือง COMMUNITY” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จึงเพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงบริการไดรฟ์-ทรู (Drive Thru) ให้ลูกค้าซื้อสินค้าอาหารเวียดนามกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยที่จอดรถมากกว่า 300 คัน โดยมีการจัดพื้นที่เป็น 6 ส่วนหลัก ดังนี้
1.โชนภัตตาคารอาหารเวียดนาม ขนาด 2 ชั้น พร้อมห้อง V.I.P. 6 ห้อง เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่ครอบครัว นักท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ร่วมสัมมนางานประชุมต่าง ๆ สามารถรองรับลูกค้าได้ทั้งหมด 1.5 พันที่นั่ง
2.โซนของฝากสินค้าที่ระลึกท้องถิ่น มีสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอปชนิดต่าง ๆ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ให้ลูกค้าเลือกจับจ่ายอย่างครบถ้วนมากกว่า 1.5 พันรายการ
3.เว้ คอนเวนชั่นฮอลล์ ห้องประชุมสำหรับการจัดงานทุกรูปแบบพร้อมด้วยชุดเครื่องเสียงคุณภาพระดับไฮเอนด์และจอ LED รองรับผู้ร่วมงานได้มากกว่า 1 พันคน
4.ตลาดวีทีพาม่วน เป็นตลาดวิถีชุมชนศูนย์รวมสินค้าท้องถิ่นแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดให้ชาวบ้านและหน่วยงานราชการใช้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าฟรีในอีเวนต์ต่าง ๆ ที่โครงการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ
5.โรงงานผลิตและกระจายสินค้า นอกจากจะเป็นฐานการผลิตหลักของสินค้าแหนมเนืองด้วยเครื่องจักรคุณภาพมาตรฐานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คณะนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา และคณะต่าง ๆ เข้าศึกษาเยี่ยมชมได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
6.ฟาร์มวีทีอินทรีย์ เป็นพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์โดยการหมุนเวียนนำเศษผักเศษอาหารจากภัตตาคารและการผลิตมาเข้ากระบวนการผลิตปุ๋ยและต่อยอดไปสู่การปลูกผักอินทรีย์ พร้อมทั้งเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
-
เปิดแผนกระจายสินค้าอาหารเวียดนามบุกต่างประเทศ
“ผมเริ่มก่อสร้างโครงการเมื่อประมาณปี 2559 จนแล้วเสร็จและเปิดโครงการอย่างไม่เป็นทางการประมาณปี 2560 โดยเป็นผู้บริหารโครงการเองทั้งหมดจึงคาดว่ากว่าจะถึงจุดคุ้มทุนคงตองใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าผู้ใช้บริการในวันจันทร์-พฤหัสบดีประมาณ 1 พันคน ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์มีประมาณ 2-3 พันคน มีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 180 บาทขึ้นไป โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงและนักท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งแต่ละวันจะมีรถทัวร์นำคณะนักท่องเที่ยวละประมาณ 5-8 คัน ขณะที่ลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและจีน”
“ผมยอมรับว่าการลงทุนครั้งนี้อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดจังหวะเพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีนัก แต่ยังมั่นใจว่าโครงการจะประสบความสำเร็จ เพราะผมยังเตรียมแผนยุบรวมร้าน VT แหนมเนือง หน้าวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง มาอยู่ภายในโครงการภายในสิ้นปี 2562 เพื่อเป็นการรวมลูกค้ามาไว้แห่งเดียวกัน ทั้งยังมีแผนขยายพื้นที่การจำหน่ายอาหารเวียดนามไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนคือ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ หรือแม้แต่เวียดนามเองก็ตาม นอกจากนั้นยังจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักธุรกิจสิงคโปร์เพื่อใช้สิงคโปร์เป็นฐานกระจายสินค้าอาหารเวียดนามไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนตอนใต้ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินงานได้ภายในปี 2562”
นับเป็นพัฒนาการที่เหนือฝันสำหรับร้านอาหารเวียดนามเล็ก ๆ เมื่อ 40 ปีก่อนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากแต่พร้อมจะเติบโตอย่างน่าติดตาม.