alivesonline.com : ตามที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ร่วมมือกันจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลเพื่อ EEC หรือ Digital Academy Thailand (DAT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI และ Data Sciences เข้าสู่อุตสาหกรรมดิจิทัล อีกทั้งพัฒนาความรู้ขั้นพื้นฐานและขั้นสูง เพื่อให้สามารถทำงานกับเครื่องมือประมวลผลที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งยังต้องมีการสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถดึงความสามารถของ AI และ Data Sciences มาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั้น
“อีริคสัน ประเทศไทย” นำโดย นายวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้างานฝ่ายเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด ร่วมมือกับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) จัดแสดงเทคโนโลยี 5G ในโอกาสร่วมลงพื้นที่เตรียมความพร้อมของสนามทดสอบ 5G Testbed ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยี 5G เส้นทางสู่การสร้างรายได้จาก 5G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โมเดลการทำธุรกิจใหม่ ๆ รวมไปถึงคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับ 5G พร้อมกันนี้ยังได้นำอุปกรณ์ที่พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G ของอีริคสันมาแสดงในงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนผู้ให้บริการและภาครัฐในการพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G
“อีริคสัน” ได้นำซอฟท์แวร์ 5G Radio Access Network (RAN) ที่สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้และได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 3GPP 5G New Radio (NR) เป็นรายแรกของโลก พร้อมสถานีฐานแบบใหม่ที่เรียกว่า Street Macro มานำเสนอ เพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดในการหาสถานที่ตั้งสถานีฐานในเขตเมือง เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างไร้รอยต่อจาก 4G ไปยัง 5G โดย Street Macro จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถานีฐานแบบ Macro และ Micro โดยสถานีฐานชนิดใหม่นี้สามารถไปติดตั้งในพื้นที่ที่จำกัดตามตึกสูงในเมืองได้เหมือนแบบ Micro แต่สามารถให้การครอบคลุมของสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแบบ Macro นอกจากนี้ Street Macro ยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และมีระบบ Active Antenna ฝังอยู่ภายในสถานีฐาน และประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลกที่ทางอิริคสันนำเข้ามาติดตั้ง
นอกจากนี้ “อีริคสัน” ยังได้นำเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์สถานีฐานแบบใหม่ของ Massive MIMO Technology ซึ่งจะช่วยการพัฒนาเครือข่าย 4G เดิมเข้าสู่ 5G โดยตอบสนองความต้องการในการเพิ่มความเร็วขึ้น ทั้งนี้ระบบสถานีฐานของ “อิริคสัน” ที่มีการติดตั้งตั้งแต่ปี 2558 สามารถอัพเกรดเป็น 5G NR โดยการติดตั้งซอฟท์แวร์จากทางไกลได้ โดยการผสมผสานของผลิตภัณฑ์ใหม่ของ “อิริคสัน” รวมทั้งการสนับสนุน 5G บนสถานีฐานที่ติดตั้งไปแล้วจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าสู่ยุค 5G ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับแอปพลิเคชันในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขยายเพิ่มเติมนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น เข้าถึง 5G แบบ end-to-end ซึ่งรวมไปถึง 5G NR Radio ครั้งแรกในอุตสาหกรรมระดับโลก โดย “อีริคสัน” ยังเป็นเจ้าแรกในตลาดสำหรับโซลูชั่นที่จะเปลี่ยนถ่าย 4G สู่ 5G ได้อย่างราบรื่น โดยใช้แพลตฟอร์ม 5G ใหม่ของ “อีริคสัน” ผนวกกับ Core และ Radio use cases ซึ่งแพลตฟอร์มใหม่นี้ประกอบไปด้วย 5G Core, Radio และ Transport Portfolios ทำงานร่วมกับระบบดิจิทัล บริการด้านการเปลี่ยนถ่ายและความปลอดภัย
ในอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตหรือโรงงานต่าง ๆ จะต้องใช้ 5G เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ยุค Industrial 4.0 โรงงานในอนาคตจะต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสู่กระบวนการผลิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการผ่านการเชื่อมโยงโครงข่าย 5G ระบบการสื่อสารภายในโรงงานจะต้องผ่านเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและผ่านการยอมรับโดยภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายในขั้นตอนการผลิตได้ ทั้งนี้ด้วยการเชื่อมโยงที่ได้มาตรฐานจะต้องมีการเพิ่มอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น Wireless Sensor เข้าไปตามสายการผลิตในโรงงาน ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายและทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปขัดจังหวะขั้นตอนการผลิต หรือการนำหุ่นยนต์ทั้งแบบประจำที่หรือแบบเคลื่อนที่เข้าไปยังสายการผลิตก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการลากสายให้ยุ่งยากเหมือนโรงงานในปัจจุบัน ทั้งนี้ 5G จะมีบทบาทสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในโรงงาน แล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาวิเคราะห์และสั่งการหุ่นยนต์ที่อยู่ในสายการผลิตโดยผ่านระบบคลาวด์ การควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเมื่อนำเข้ามาสู่สายการผลิตจริง โดยจะต้องมี Latency ที่น้อยกว่า 1 มิลลิวินาที โดยในการสาธิตนี้จะแสดงให้เห็นถึงการควบคุมแขนกลของหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมผ่านการขยับมือของผู้ควบคุมบนโครงข่าย 5G
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ “อีริคสัน” นำมาสาธิต คือ รถตักดินที่ควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G เป็นการสาธิตการนำ 5G HF (High Frequency หรือความถี่สูง) มาใช้งาน โดยข้อมูลการควบคุมรถตักดินนี้จะถูกสั่งการจากแท่นควบคุมไปยัง 5G Core Network ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปที่แขนกลของหุ่นยนต์ผ่านโครงข่าย 5G NR ในแบบ Realtime โดยหุ่นยนต์จะตอบสนองต่อการควบคุมในแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไปข้างหน้า การหมุนซ้ายขวา หรือการตักดิน เป็นต้น รถตักดินที่ควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G จะเป็นการสาธิตการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องจักรในภาคสนาม เช่น การทำเหมืองแร่ โดยการควบคุมจากระบบปฏิบัติการหลังบ้านแบบ Real time การควบคุมระยะไกลจะทำให้การปฏิบัติงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเนื่องจากอุบัติภัยในการทำงานได้อีกด้วย
สำหรับชุดสาธิตนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ที่มี Low Latency รวมทั้งมีความมั่นคงและเชื่อถือได้ สามารถทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตการควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G จะถูกนำมาใช้ในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอันตราย เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน โดยชุดสาธิตนี้ยังแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของ 5G URLLC (Ultra Reliability and Low Latency Communication) โดยการเปรียบเทียบรถตักดินสองคัน โดยที่คันหนึ่งมีการเชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 5G NR ในขณะที่อีกคันหนึ่งมีการเชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 4G LTE หลังจากที่ได้ทำการทดสอบแล้วผู้สังเกตการณ์จะเห็นได้ว่ารถตักดินคันที่เชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 5G NR จะสามารถเคลื่อนที่ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที เมื่อเทียบกับอีกคันที่เชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 4G LTE ซึ่งยังมีการตอบสนองที่ช้าอยู่
นายวุฒิชัย กล่าวในตอนท้ายว่า เทคโนโลยี 5G จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการได้สูงขึ้นถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2569 โดยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และความปลอดภัยด้านสาธารณะ จะเป็นภาคส่วนที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ 5G เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศไทยต่อไป