Special Story » ตลาด Grocery ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในภาวะตลาดแข่งเดือด

ตลาด Grocery ฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในภาวะตลาดแข่งเดือด

11 พฤษภาคม 2019
0

ปราณิดา ศยามานนท์ 

ผู้จัดการคลัสเตอร์บริการ

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

alivesonline.com : ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกสินค้าร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภค (Grocery) ในปี 2562 มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากในปี 2561 ที่สภาวะตลาดชะลอตัวต่อเนื่องจากภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอ่อนแอ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง แต่ในปี 2562 ตลาดจะค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นโดยคาดว่าจะขยายตัวราว 3-4% ตามการฟื้นตัวของการจ้างงานและรายได้ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นรวมถึงปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนที่ยังเติบโต

การฟื้นตัวของกำลังซื้อยังกระจุกตัวเฉพาะบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงเป็นหลัก ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้น้อยยังไม่ฟื้นตัวเนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับตํ่า อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ปัจจัยที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีก Grocery ในระยะต่อไปคงต้องจับตามองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเลือกตั้งซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการบริโภคเป็นอันดับต้น ๆ

แม้ว่าตลาดค้าปลีก Grocery จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นขยายร้านขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อซึ่งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายสาขาในต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV แนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวทั้งปรับรูปแบบสาขา รวมถึงเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ ขณะเดียวกันการแข่งขันจากช่องทางออนไลน์ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวไปสู่ Omni channel โดยขยายตลาดออฟไลน์ควบคู่กับออนไลน์ด้วย รวมถึงนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้านค้าและทำการตลาด ตลอดจนการใช้ big data ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ

แนวโน้มธุรกิจค้าปลีก Grocery ปี 2562

ธุรกิจค้าปลีกสินค้า Grocery ในปี 2562 คาดว่าจะเติบโตราว 3-4% แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จากสภาวะตลาดที่ซบเซาต่อเนื่องในปี 2561 จากการจ้างงานและรายได้ที่ยังอ่อนแอ ทั้งนี้ในปี 2562 ตลาดมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากภาวการณ์จ้างงานและค่าจ้างแรงงานยังฟื้นตัวในอัตราที่ตํ่า รวมถึงรายได้ภาคเกษตรที่ยังอ่อนแอจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับตํ่า ส่งผลให้กำลังซื้อยังฟื้นตัวจำกัดแต่เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง

หากดูภาพรวมการเติบโตของดัชนีค้าปลีกสินค้าไม่คงทนซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดภาวะตลาดค้าปลีกสินค้าหมวด Grocery จะพบว่า ในไตรมาส 4 ปี 2561 ยอดขายเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ 1.7% (YOY) จากในช่วง 9 เดือนแรกที่ติดลบ 0.9% (YOY) ขณะที่ดัชนีค้าปลีกหมวดห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตขยายตัว 5.9% ในปี 2561

เมื่อดูการเติบโตของมูลค่าตลาดค้าปลีก Grocery ในปี 2561 ที่แบ่งตามประเภทร้านค้าจากข้อมูลของสมาคมค้าปลีกจะพบว่า ร้าน Grocery ประเภทซูเปอร์มาร์เก็ตมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่ารูปแบบอื่น ๆ โดยเติบโต 6.5% เทียบกับร้านค้าประเภทไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่เติบโต 3% และ 3.4% ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ยังฟื้นตัวจำกัดแต่เฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของซูเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับแนวโน้มปี 2562 ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC) คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาด Grocery มีแนวโน้มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ราว 3-4% โดยปัจจัยสนับสนุนจะมาจากการจ้างงานและรายได้ที่ค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีนที่มีการใช้จ่ายชอปปิงสูงยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่ยังต้องจับตามองความเชื่อมั่นของผู้บริโภคซึ่งจะขึ้นกับปัจจัยด้านเสถียรภาพการเมืองเป็นหลัก รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเน้นกระตุ้นการบริโภค รวมถึงนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าซึ่งจะทำให้กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ฟื้นตัวและหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อ การฟื้นตัวของการบริโภคและจะส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกฟื้นตัวได้อย่างช้า ๆ

แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคยังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังมีแผนขยายสาขาร้าน Grocery อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรูปแบบขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อ ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มจำนวนได้อีกมาก สะท้อนจากความหนาแน่น (Penetration Rate) ของร้านสะดวกซื้อต่อประชากรที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักโดยในปัจจุบันอยู่ที่ราว 200 สาขาต่อประชากร 1 ล้านคน เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้วมีสัดส่วนอยู่ที่ราว 700-800 สาขาต่อประชากร 1 ล้านคน สะท้อนถึงโอกาสในการขยายสาขาของร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ยังสามารถขยายได้อีกมากตามการขยายตัวของเมือง (Urbanization Rate)

ขณะที่โอกาสในการขยายสาขาร้านขนาดใหญ่อย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตมีค่อนข้างจำกัดเนื่องจากสาขาร้านขนาดใหญ่ค่อนข้างครอบคลุมในทุกจังหวัดแล้วประกอบกับยังมีข้อจำกัดหลายด้านทั้งในแง่ของพื้นที่ขนาดใหญ่ที่หายากขึ้น รวมถึงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบผังเมือง ส่งผลให้การขยายสาขาขนาดเล็กมีความคล่องตัวมากกว่า ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปโดยต้องการความสะดวกรวดเร็ว รวมถึงครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงทำให้นิยมซื้อสินค้าจำนวนน้อยแต่ไปบ่อยขึ้น ส่งผลให้รูปแบบของร้านสะดวกซื้อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดีกว่า

การแข่งขันในธุรกิจค้าปลีก Grocery มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นและจะเกิดการแข่งขันข้าม Segment มากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ Grocery มีการแข่งขันกันทั้งในการขยายสาขา รวมถึงการแข่งขันด้านราคาและเพิ่มความหลากหลายและสร้างความแตกต่างในสินค้า ส่งผลให้ยอดขายต่อสาขามีแนวโน้มลดลงโดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ปรับตัวลดลงราว 3% ต่อปีในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ ยอดขายต่อสาขาของร้านขนาดเล็กลดลงไม่มากนัก ส่งผลให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมุ่งขยายสาขาประเภทร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นหลัก

ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการยังมีการปรับตัวโดยพัฒนาสาขารูปแบบต่าง ๆ อย่าง เช่น การเพิ่มพื้นที่ของร้านสะดวกซื้อให้ใหญ่ขึ้นเพื่อสามารถเพิ่มรายการสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น รวมถึงการเปิดสาขาที่เป็น Stand Alone โดยรูปแบบการขยายสาขาจะขึ้นกับแต่ละทำเล ส่งผลให้ร้าน Grocery รูปแบบต่าง ๆ ไม่เพียงแต่แข่งขันกันเองในรูปแบบเดียวกัน แต่จะเกิดการแข่งขันกับรูปแบบอื่น ๆ มากขึ้นอย่างเช่นร้านสะดวกซื้อจะแข่งกับซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ตด้วย

Mega Trend ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดค้าปลีก Grocery

แม้ว่าการเติบโตของช่องทางออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกที่มีหน้าร้านโดยรวม แต่สำหรับร้าน Grocery จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าร้านประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เทรนด์ของโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในการซื้อสินค้า Grocery จะพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังนิยมซื้อสินค้า Grocery โดยเฉพาะอาหารสดจากร้านค้ามากกว่าช่องทางออนไลน์

จากข้อมูลผลสำรวจของ eMarketer ในปี 2561 พบว่า การซื้อสินค้า Grocery ของประเทศในเอเชียและยุโรป 10 ประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีสัดส่วนไม่มากนักโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3.5% ของยอดขายออนไลน์โดยรวม นอกจากนี้ จากผลสำรวจของ Morgan Stanley เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้า Grocery ผ่านช่องทางออนไลน์ใน 10 ประเทศทั่วโลกพบว่า สาเหตุสำคัญที่ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้า Grocery ผ่านช่องทางออนไลน์คือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการไปเลือกซื้ออาหารสดด้วยตนเองและบางส่วนชื่นชอบการเดินเลือกซื้อสินค้า Grocery จากร้านค้า

สำหรับประเทศไทย EIC มองว่า ร้าน Grocery ยังไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากช่องทางออนไลน์มากนัก จากผลสำรวจของ EIC เกี่ยวกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคพบว่า แม้คนไทยจะซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น แต่ยังไม่บ่อย โดย 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีการซื้อสินค้าออนไลน์น้อยกว่า 2 ครั้งต่อเดือน

อย่างไรก็ดี การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกส่วนใหญ่รวมถึงร้าน Grocery รายใหญ่ของไทยตื่นตัวและปรับตัวไปสู่ Omni Channel โดยให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์ควบคู่กับช่องทางออฟไลน์ ทั้งนี้แม้ว่ายอดขายออนไลน์ของผู้ประกอบการ Grocery รายใหญ่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แต่ยอดขายออนไลน์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับยอดขายรวม โดยในปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่เพียงราว 2-3% ของยอดขายรวม แต่แนวโน้มคาดว่าน่าจะเติบโตสูงขึ้นในอนาคตและจะเป็นช่องทางยอดขายซึ่งกันและกันเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการหาข้อมูลและซื้อสินค้าจากหลากหลายช่องทาง เช่น รูปแบบการซื้อสินค้าอย่าง Click and Collect รวมถึงการโปรโมทสินค้าผ่านช่องทางต่างๆ

จับตามองการพัฒนาโมเดลร้านค้า Grocery รูปแบบอื่น ๆ

ดิสเคาน์สโตร์ขนาดเล็กเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นการชะลอตัวของตลาด Grocery ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว แต่ยังมีรูปแบบของร้าน Grocery บางประเภทที่ยังเติบโตได้ค่อนข้างดีท่ามกลางภาวะตลาดที่ซบเซา ทั้งนี้จากกรณีศึกษาของประเทศอังกฤษพบว่า หากเปรียบเทียบยอดขายของร้าน Grocery รายใหญ่ ๆ จะพบว่าผู้เล่นรายใหญ่ที่มีรูปแบบร้านค้าอย่างไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างเช่น Tesco Asda และ Sainsbury มียอดขายลดลง ขณะที่ ร้านดิสเคาน์สโตร์ขนาดเล็กอย่าง Aldi และ Lidl กลับมียอดขายเติบโตและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น โดยกลยุทธ์สำคัญคือ การขายสินค้าในราคาที่ถูกกว่าร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปถึงราว 30-40% โดยรูปแบบร้านค้ามีขนาดไม่ใหญ่มากอยู่ที่ประมาณ 1,500 ตารางเมตรใกล้เคียงกับขนาดของซูเปอร์มาร์เก็ตและจำกัดจำนวนสินค้าในร้านอยูที่ราว 3,000 SKUs เทียบกับร้านทั่วไปที่มีสินค้ามากถึง 10,000-50,000 SKUs โดยจะเน้นขายสินค้าตราห้าง (Private brand) ซึ่งจะมีอัตรากำไรสูงกว่าสินค้าแบรนด์ทั่วไป ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากการขายสินค้า Private Brand ที่ทำให้ขายสินค้าโดยไม่ต้องผ่านตัวแทนจำหน่ายแล้ว ยังไม่มีต้นทุนในด้านการทำการตลาดมากเท่ากับร้าน Grocery ทั่วไป นอกจากนี้ รูปแบบการจัดร้านยังเป็นแบบเรียบง่าย อย่างเช่นการวางสินค้าที่อยู่ในลัง ทำให้ลดการจ้างพนักงานลงได้อีกด้วย

 

แม้ว่าดิสเคาน์สโตร์ขนาดเล็กในไทยอาจยังไม่แพร่หลายมากนัก แต่เป็นอีกโมเดลที่น่าสนใจและน่าจะตอบโจทย์โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัด

ในปัจจุบันภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงส่งผลให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายใหญ่ ๆ ยังคงมีการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการ Grocery รายใหญ่มีอำนาจต่อรองสูง อีกทั้งยังได้มีความร่วมมือกับผู้ผลิตในการพัฒนาสินค้า Private Brand มาจำหน่ายในร้านค้ามากขึ้น ทำให้สามารถขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกกว่าสินค้า Company Brand ตามปกติถึงราว 20% ซึ่งนับว่าเป็นรูปแบบที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับดิสเคาน์สโตร์อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนทั้งการเข้าสู่สังคมสูงอายุและครอบครัวที่มีขนาดเล็กลงส่งผลให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจากที่ซื้อสินค้าจำนวนมากหันมาซื้อสินค้าจำนวนน้อยลงแต่ซื้อบ่อยขึ้น ส่งผลให้รูปแบบร้านค้าอาจต้องปรับขนาดให้เล็กลง โดยเลือกรายการสินค้าบางรายการที่ขายดีและเน้นขายในราคาประหยัดซึ่งน่าจะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ อีกทั้งยังขยายได้เร็วและสามารถเจาะตลาดโดยเฉพาะต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี

ในปัจจุบันการแข่งขันจากโมเดิร์นเทรดรายใหญ่ที่รุนแรงมากขึ้นส่งผลกระทบต่อร้าน Grocery ท้องถิ่นค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการท้องถิ่นจึงมีการปรับตัวซึ่งโมเดลในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการท้องถิ่นหลายรายที่ยังแข่งขันได้ดีในตลาดค้าปลีก Grocery ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับรูปแบบดิสเคาน์สโตร์ โดยจะเน้นขายสินค้าราคาประหยัดโดยมีการจับมือกับ ซัพพลายเออร์ในการพัฒนาสินค้า Private Brand รวมถึงการนำสินค้าแบรนด์เล็ก ๆ ที่มีราคาถูกกว่าแบรนด์ขนาดใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จักซึ่งจะเป็นจุดขายสำคัญที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อน้อยได้เป็นอย่างดี

กลยุทธ์การแข่งขันของผู้ประกอบการจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

ผู้ประกอบการยังเน้นกลยุทธ์การขยายสาขาหลากหลายรูปแบบ (Multi-Format) และปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขารวมถึงการเพิ่มบริการที่หลากหลายให้ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละทำเล แม้ว่าสาขาร้าน Grocery ขนาดเล็กยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีการขยายสาขาหลากหลายรูปแบบรวมถึงมีการพัฒนารูปแบบสาขาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละทำเลมากขึ้น

นอกจากนี้ การเพิ่มบริการที่หลากหลายภายในร้านนอกเหนือจากการขายสินค้าจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการมากขึ้นและยังช่วยให้สามารถแข่งขันกับร้านค้าออนไลน์ได้มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น บริการชำระเงิน บริการจุดรับสินค้าที่ซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ การให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) รวมถึงโซนนั่งรับประทานอาหาร มุมกาแฟ เครื่องดื่มและเบเกอรี่

ทั้งนี้ Grocerant ซึ่งเป็นการนำเอาร้านอาหารเข้ามาไว้ภายใน Grocery Store มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น โดยบางแห่งจะมีจุดขายอยู่ที่การที่ลูกค้าสามารถเลือกสรรวัตถุดิบเองจากตู้แช่และนำมาให้ทางร้านปรุงให้ ทำให้มั่นใจในคุณภาพและความสดใหม่ของอาหาร นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แม้แต่ร้านขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อยังหันมาให้บริการพื้นที่นั่งทานอาหารสำหรับสาขาในบางทำเล ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

การแข่งขันจะเน้นไปที่การนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ และตอบโจทย์การให้บริการกับลูกค้า ตลอดจนการบริหารจัดการร้านค้าและทำการตลาดผ่านช่องทางดิจิทัล ตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการประมาณการยอดสั่งซื้อสินค้า รวมถึงใช้ในการติดตามความเคลื่อนไหวและพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าเพื่อนำมากำหนดราคาและโปรโมชัน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังอาจนำเอาโมบายคูปองมาใช้ร่วมด้วย โดยจะวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลการซื้อสินค้าของลูกค้าแต่ละรายเพื่อจัดส่งคูปองหรือโปรโมชันให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังได้นำเอาเทคโนโลยีการชำระเงิน Self-Check Out มาใช้และคาดว่าจะพัฒนาไปสู่รูปแบบใหม่ ๆ ดังเช่นเทรนด์ในต่างประเทศ อาทิ Kroger และ Walmart ที่ใช้ระบบ Scan and Go โดยลูกค้าสามารถใช้แอปพลิเคชันในมือถือมาสแกนราคาและชำระเงินได้เลยขณะที่ Amazon Go พัฒนาไปถึงขั้นที่ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าและสามารถเดินผ่านจุดชำระเงินได้โดยไม่ต้องหยิบสินค้าออกจากรถเข็น ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะช่วยในการบริหารจัดการร้านค้าแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคที่จะได้รับความสะดวกและสนุกกับการชอปปิงมากขึ้นอีกด้วย

โดยสรุปภาพรวมธุรกิจค้าปลีก Grocery มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นแม้ว่าแรงกระตุ้นการบริโภคในประเทศยังไม่แข็งแกร่งมากนัก แต่โอกาสในการขยายสาขาร้าน Grocery ของไทยยังมีอีกมาก โดยเฉพาะรูปแบบขนาดเล็กที่สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวกัน แนวโน้มการแข่งขันจะรุนแรงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการได้มีการปรับตัวหลายด้านทั้งการพัฒนารูปแบบร้านค้า การเพิ่มความหลากหลายนำเอาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปด้วยซึ่งน่าจะช่วยเสริมให้ธุรกิจค้าปลีก Grocery ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า.