Special Story » TCEB ชวนองค์กรจัดทริปสัมมนาใน 1 วัน เส้นทางไมซ์ใหม่ “สัมมนารอบกรุง”

TCEB ชวนองค์กรจัดทริปสัมมนาใน 1 วัน เส้นทางไมซ์ใหม่ “สัมมนารอบกรุง”

14 พฤษภาคม 2019
0

alivesonline.com : จากเป้าหมายของ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” ในการกระตุ้นนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สร้างรายได้ 221,500 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2562 นั้น ได้กำหนดเป็น นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน สร้างรายได้ 100,500 ล้านบาท และนักเดินทางชาวไทยที่เดินทางเข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าในส่วนของนักเดินทางไมซ์ในประเทศมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมีนักเดินทางจำนวน 33,011,322 ราย มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 3,553 บาท ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจ 117,301 ล้านบาท ถือว่ามีการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 คิดเป็นสัดส่วน 28.89% ซึ่งเป็นผลมาจากความแข็งแกร่งทางด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอันเกิดมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในการออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอบรมสัมมนาใน 55 เมืองรองให้สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายจากการจัดประชุมสัมมนาได้ 100%

เส้นทางไมซ์ใหม่ : พัฒนาพื้นที่ดึงดูดนักเดินทาง

อย่างไรก็ตาม “อุตสาหกรรมไมซ์” โดยเฉพาะกลุ่มการประชุม (Meeting) ยังมีความจำเป็นต้องสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อดึงดูดนักเดินทางไมซ์คุณภาพเข้าสู่เมืองต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการจัดงานไมซ์ในประเทศและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไมซ์ในประเทศ “ทีเส็บ” จึงริเริ่มโครงการศึกษาและวิเคราะห์ศักยภาพเส้นทางไมซ์ภายในประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมไมซ์ภายในประเทศ หรือ “Thailand 7 MICE Magnificent Themes” มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ และพัฒนาสถานประกอบการและชุมชนสำหรับการจัดงานไมซ์ทั่วประเทศ

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นจากการวิจัยศึกษาเมืองที่มีศักยภาพรองรับนักเดินทางไมซ์ ศึกษาต้นทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ วิเคราะห์ศักยภาพและความสามารถทั้งด้านพื้นที่ สถานประกอบการ และชุมชน รวมถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคที่มีศักยภาพในการรองรับกลุ่มไมซ์และพัฒนาเป็น “เส้นทางไมซ์ใหม่” ผ่าน 7 มุมมองที่วิจัยมาแล้วว่าเป็นแนวคิดเส้นทาง Top Hits ของกลุ่มไมซ์ทั้งนานาชาติและในประเทศ (Thailand 7 MICE Magnificent Themes) ได้แก่

1.ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม (Fascinating History and Culture)

2.การผจญภัย (Exhilarating Adventure)

3.การสร้างทีมเวิร์ค (Treasured Team Building)

4.กิจกรรม CSR และการประชุมเชิงอนุรักษ์ (CSR and Green Meeting)

5.กิจกรรมบรรยากาศชายหาด (Beach Bliss)

6 การจัดงานและกิจกรรมหรูหรามีระดับ (Lavish Luxury)

7.การนำเสนออาหารไทยในทุกการจัดงานที่หลากหลาย (Culinary Journeys)

 

“สัมมนารอบกรุง” : รับพฤติกรรมองค์กรยุคใหม่

ล่าสุด ฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ (Domestic MICE) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” จึงได้กำหนดแผนงานเพื่อสอดรับนโยบายดังกล่าว โดยร่วมกับ สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” โครงการสร้างการรับรู้สินค้าและบริการไมซ์ (Domestic Fam Trip) ประจำปี 2562 พร้อมนำผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ รวม 25 ราย เข้าร่วมโครงการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเองรูปแบบใหม่ในเส้นทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ภายใต้แนวคิด “Empower Yourself With A New Philosophy In The Global World”

นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ กล่าวว่า การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้นอกจากถือเป็นส่วนหนึ่งของ “เส้นทางไมซ์ใหม่” (Thailand 7 MICE Magnificent Themes) แล้ว ยังเป็นการต่อยอด โครงการ “ก้าวตามรอยพ่อ ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” ตามโมเดลการจัดประชุมสัมมนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้วยแนวคิด “๓ พอ” (พอเพียง เพิ่มพูน พัฒนา) เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้หน่วยงานภาคเอกชนจัดงานประชุมสัมมนาในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนำศาสตร์พระราชาที่เป็นประโยชน์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากร หน่วยงาน องค์กร และอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการพัฒนาและกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น

“เหตุผลที่เลือกจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นพื้นที่การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงครั้งนี้ เพราะเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใกล้กรุงเทพฯ สามารถเดินทางไปเช้า-เย็นกลับและร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ภายในหนึ่งวัน สอดรับกับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่และองค์กรยุคปัจจุบันที่เริ่มค้นหาและเลือกสรรสถานที่จัดงานประชุมสัมมนาด้วยตนเองมากขึ้นจากอดีตที่พึ่งพาบริษัทเอเจนชี่เป็นหลัก ด้วยเหตุนี้การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงจึงถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับองค์กรต่าง ๆ ที่ต้องการจัดการประชุม หรือ Meeting และการท่องเที่ยวเพื่อรางวัล หรือ Incentives”

ทริป 1 วันในแปดริ้ว

สำหรับสถานที่การจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราครั้งนี้ ประกอบด้วย :

หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา – เลขที่ 999 หมู่ 3 ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา โทร.0 3858 9396, 08 4088 2264 ถือเป็น 1 ใน 5 หอดูดาวภูมิภาคและศูนย์กลางการเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์สำหรับประชาชนในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา ขอนแก่น และพิษณุโลก รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวิชาการเพื่อสร้างความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ประชาชนในทุกภูมิภาคมีโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์อย่างทั่วถึงและทัดเทียมกัน โดยมีอาคารท้องฟ้าจำลองสำหรับฉายท้องฟ้าจำลองด้วยระบบดิจิทัลความละเอียดสูง รองรับผู้เข้าชมได้ครั้งละ 50 ราย ทั้งยังมีห้องนิทรรศการจัดแสดงเกี่ยวกับดวงดาวต่าง ๆ ด้านหลังเป็นอาคารหอดูดาว มีกล้องโทรทรรศน์หลายขนาด รวมถึงลานสำหรับจัดกิจกรรมดูดาวทุกคืนวันเสาร์ในช่วงเวลา 18.00-22.00 น.

บ้านเมล่อน – เลขที่ 99/9 หมู่ 2 ถ.304 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร.09 9249 4494 เป็นฟาร์มเมล่อนสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่เปิดกว้างให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้กระบวนการปลูกเมล่อนตามแนวพระราชดำริ “เศรษฐกิจพอเพียง” รองรับผู้เข้าชมได้ครั้งละ 30 ราย โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้เข้าชมได้ทดลองปฏิบัตากมาย เช่น การเพาะต้นกล้าเมล่อน การสลักลายผลเมล่อน การให้อาหารแกะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีการจำหน่ายผลเมล่อนสดจากฟาร์ม รวมถึงมีร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อนในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีการจัดมุมถ่ายรูปสุดชิคและชิลล์ให้ผู้มาเยือนได้แชะและโชว์อีกด้วย

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา – เลขที่ 7 หมู่ 2 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา โทร.0 3855 4982-3 มีการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมการศึกษา ทดลอง วิจัย และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ดินทรายจัดเพื่อเกษตรกรรมซึ่งมีรูปแบบให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว โดยให้บริการแก่เกษตรกรและประชาชนทุกสาขาอาชีพที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ ณ ที่แห่งเดียว เสมือน “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต” ถือเป็นตัวอย่างแห่งความสำเร็จในด้านการเกษตรกรรมและการพัฒนาอาชีพเพื่อเป็นต้นแบบและแนวทางให้เกษตรกรและผู้สนใจนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ให้ศึกษาเรียนรู้และเยี่ยมชม คือพระตำหนักสามจั่ว ร้านปันสุข สวนพฤกษชาติราชดำรัส ศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ชุมชน โรงเรือนกลุ่มพัฒนาอาชีพเย็บผ้า จักสาน และตีเหล็ก เป็นต้น

“ไมซ์” กับการสร้างวัฒนธรรมองค์กร

นายสราญโรจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก อาจารย์ชินรีณี วีระวุฒิวงศ์ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ มาร่วมให้ความรู้ผู้ร่วมโครงการในกิจกรรม “ปั้นดิน” ซึ่งถือเป็นศิลปะเพื่อความสมดุลในการส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้มนุษย์สื่อสารกับโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยการปั้นดินจะช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองผ่านประสารทสัมผัสที่ซับซ้อนสูงสุด ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมปั้นดินมีศักยภาพเพิ่มขึ้นทางด้านความสามารถในการเรียนรู้ ความสามารถด้านสติปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ ตลอดจนพลังความมุ่งมั่นในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายสูงสุด

นอกจากนั้น ยังมีการจัด กิจกรรม “Table Top Sale” โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว รวมถึงผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเสนอสถานที่และผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” เพื่อเชิญชวนให้นำองค์กรนำคณะบุคลากรเดินทางมาจัดอบรมสัมมนา

 

นายสราญโรจน์ กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่การจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ครั้งนี้เน้นผู้ร่วมโครงการคือ ผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ (HR) จากองค์กรต่าง ๆ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อการจัดโครงการประชุมและอบรมสัมมนาบุคลากรภายในองค์กร โดยนำบุคลากรออกมาเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ นอกสถานที่ซึ่งถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ๆ ทั้งยังถือเป็นการเรียนรู้ศาสตร์พระราชาในการนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่าง ๆ ทั้งชีวิตประจำกัน การทำงาน และอื่น ๆ

“อุตสาหกรรมไมซ์เป็นหัวใจหนึ่งในการเชื่อมต่อผู้คนให้มีโอกาสพบกันและแบ่งปันประสบการณ์จากการเรียนรู้ร่วมกัน ดังการจัดกิจกรรมสัมมนารอบกรุงครั้งนี้ที่ผู้เข้าร่วมโครงการต่างมีมุมมองในด้านต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยมีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา รวมไปถึงมีความกล้าที่จะลงมือปฏิบัติในสิ่งต่าง ๆ ทั้งยังให้การยอมรับซึ่งกันและกัน รวมถึงมีเข้าใจเรื่องช่องช่องว่างระหว่างวัยของบุคลากรในองค์กร ตลอดจนมีความพยายามที่จะพัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นจากพื้นที่สุขสบายของตนเอง หรือ Comfort Zone”

เหนือสิ่งอื่นใดการจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ยังถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยตรงอันถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หาก “ทีเส็บ” จะยังคงมีการจัดกิจกรรม “สัมมนารอบกรุง” ขึ้นอีก แต่จะเป็นในพื้นที่ใด ติดตามในเร็ว ๆ นี้.