Special Story » ปัญหาคอร์รัปชันไทย อุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ปัญหาคอร์รัปชันไทย อุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

10 มิถุนายน 2019
0

วชิรวัฒน์ บานชื่น และ พงศกร ศรีสกาวกุล

Economic Intelligence Center (EIC)

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมาปรับแย่ลง ดัชนีมาตรฐานการควบคุมคอร์รัปชัน (Control of corruption index : CCI) ที่จัดทำโดย World Bank บ่งชี้ว่าในปี 2560 ไทยได้คะแนน -0.39 (อยู่อันดับที่ 120 จากทั้งหมด 209 ประเทศ) ปรับตัวแย่ลงจากปี 2539 ที่ไทยได้ -0.36 คะแนน (อยู่อันดับที่ 103 จากทั้งหมด 187 ประเทศ) ซึ่งดัชนี CCI มีค่าอยู่ระหว่าง -2.5 ถึง 2.5 โดยคะแนนที่ติดลบนั้นบ่งชี้ถึงมาตรฐานการควบคุมคอร์รัปชันไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

นอกจากนี้ การจัดอันดับโดยองค์กร Transparency International ยังพบว่า ภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชันของไทยก็ปรับแย่ลงเช่นกัน โดยในปี 2561 ไทยได้ 36 คะแนน (อยู่อันดับที่ 99 จากทั้งหมด 180 ประเทศ) ลดลงจากในปี 2555 ที่ไทยได้ 37 คะแนน (อยู่อันดับที่ 90 จากทั้งหมด 175 ประเทศ) ซึ่งคะแนนมีค่าอยู่ระหว่าง 0 ถึง 100 โดยคะแนนยิ่งสูงหมายถึงประเทศนั้นมีคอร์รัปชันต่ำ

ปัญหาด้านคอร์รัปชันส่งผลเสียต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำในประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยได้หลายช่องทาง ทั้งรายได้ภาครัฐที่ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐที่ด้อยประสิทธิภาพ การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนที่ทำได้ยากขึ้นและการลดแรงจูงใจของการลงทุนภาคเอกชนโดยเฉพาะในด้านงานวิจัยนวัตกรรม

จากงานศึกษาของ IMF เดือนเมษายน 2562 พบว่าประเทศที่มี GDP per Capita สูงมักเป็นประเทศที่มีคอร์รัปชันต่ำ สอดคล้องกับงานวิจัยส่วนใหญ่ที่พบว่าคอร์รัปชันส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดังนั้นการลดปัญหาคอร์รัปชันจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งในการพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้สูง

จากประเด็นดังกล่าว EIC มองว่าปัญหาคอร์รัปชันส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ 3 ช่องทาง คือ

1) คอร์รัปชันทำให้รายได้ของภาครัฐน้อยลง ส่วนหนึ่งมาจากการติดสินบนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทำให้ภาครัฐเก็บภาษีได้น้อย และทำให้ประชาชนไม่มีแรงจูงใจในการจ่ายภาษีเต็มตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยการศึกษาของ IMF พบว่า ประเทศที่คอร์รัปชันต่ำจะมีรายได้ภาครัฐสูงกว่าประเทศที่มีคอร์รัปชันสูงเฉลี่ยประมาณ 2.8-4.5% ของ GDP ซึ่งรายได้ภาครัฐที่ลดลงทำให้มีเม็ดเงินลงทุนน้อยลงสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพ จึงส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในระยะยาว

2) คอร์รัปชันลดประสิทธิภาพการใช้จ่ายภาครัฐ โดย IMF พบอีกว่าประเทศที่คอร์รัปชันสูงมักมีการใช้จ่ายภาครัฐต่อหนึ่งโครงการสูงกว่าประเทศที่มีคอร์รัปชันต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน โดยโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และพลังงาน มีความเสี่ยงที่จะมีการติดสินบนมากที่สุด และยังพบว่าการคอร์รัปชันส่งผลให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจย่ำแย่ลงทั้งในแง่ของผลกำไรและประสิทธิภาพการดำเนินงาน นอกจากนี้ การดำเนินงานภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพยังทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง สะท้อนจากคะแนนผลสอบนานาชาติที่ต่ำ โดยในกรณีของไทย ผลสอบ PISA ในปี 2558 อยู่เพียงอันดับที่ 55 จาก 72 ประเทศ แม้จะมีการจัดสรรงบเพื่อการศึกษาค่อนข้างมากก็ตาม

3) คอร์รัปชันเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจและการลงทุน เพราะมักก่อให้เกิดการผูกขาดผ่านการกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดและทำให้ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะการสร้าง Connection ผ่านการคอร์รัปชันทำได้ง่ายกว่า โดยผลสำรวจของ World Economic Forum พบว่า ปัญหาคอร์รัปชันเป็น 1 ใน 5 อุปสรรคสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนรวมถึงไทย ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้นและบั่นทอนความเชื่อมั่นในการลงทุน นอกจากนี้ OECD ยังพบอีกว่า คอร์รัปชันทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

แนวทางการลดปัญหาคอร์รัปชันนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับธรรมาภิบาลภาครัฐ การเพิ่มความโปร่งใสด้านข้อมูล ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่

เมื่อพิจารณากรณีศึกษาในต่างประเทศและบริบทของไทยพบว่า การลดปัญหาคอร์รัปชันสามารถทำได้ ดังนี้

1) ยกระดับธรรมาภิบาลของภาครัฐ เพิ่มความชัดเจนและลดความซับซ้อนของกรอบกฎหมาย เพื่อลดการใช้ดุลยพินิจ (Discretion) ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การบริหารรัฐวิสาหกิจควรเป็นไปอย่างมืออาชีพและไม่ถูกแทรกแซงทางการเมือง ตัวอย่างการยกระดับธรรมาภิบาลของภาครัฐในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น Public Governance, Performance and Accountability Act ของออสเตรเลียที่ออกมาในปี 2556 ได้ให้อำนาจ Accountable Authority เป็นผู้ควบคุมการทำงานหน่วยงานรัฐให้มีประสิทธิภาพ และมีระบบประเมินความเสี่ยงการปฏิบัติงานที่ชัดเจน ทำให้ภาครัฐมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น

2) เพิ่มความโปร่งใสด้านข้อมูลและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลรายรับ/รายจ่าย และรายละเอียดโครงการของภาครัฐในทุกระดับ โดยเฉพาะกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง อีกทั้งปรับปรุงกฎหมายที่ลดทอนสิทธิเสรีภาพในการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชน โดย IADB (2561) พบว่าการให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าโครงการรัฐได้จะช่วยเพิ่มการร้องเรียนการคอร์รัปชัน และทำให้โครงการมีโอกาสสำเร็จมากขึ้น

3) ใช้เทคโนโลยีร่วมสร้างระบบการตรวจสอบ เช่น สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ Crowdsourcing เพื่อให้ประชาชนรายงานการคอร์รัปชันได้ง่ายและในต้นทุนที่ต่ำ ใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษี และท้ายสุดอาจประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Blockchain สำหรับบันทึกข้อมูลภาครัฐ เช่น การออกโฉนดที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบิดเบือนและติดตามข้อมูลได้ง่าย.