alivesonline.com : จากกรณี เฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวของ นายวิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” ในฐานะประธานสโมสรฟุตบอลชื่อดังแห่งพรีเมียร์ลีก ประเทศอังกฤษ “เลสเตอร์ ซิตี้” ประสบอุบัติเหตุตก บริเวณลานจอดรถใกล้สนามฟุตบอล “คิง เพาเวอร์ สเตเดียม” หลังจบเกมลีกนัดที่ทีมเปิดบ้านเสมอ “เวสต์แฮม ยูไนเต็ด” 1-1 เมื่อเวลาท้องถิ่นประมาณ 20.30 น. วันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถือเป็นข่าวที่สร้างความตกใจให้แก่บุคคลต่าง ๆ ทั้งในแวดวงกีฬา ธุรกิจ และสังคมเซเลบริตี้
เนื่องเพราะ นายวิชัย หรือ “เจ้าสัววิชัย” ไม่เพียงแต่ดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” พร้อมทั้งมีสถานะทางสังคมเป็นประธานสโมสรฟุตบอล “เลสเตอร์ ซิตี้” และนายกสมาคมขี่ม้าโปโลแห่งประเทศไทย โดยจัดเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย ประจำปี 2561 โดยมีทรัพย์สินทั้งหมด 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.71 แสนล้านบาท (จากการจัดอันดับของ “นิตยสารฟอร์บส์”)
แต่เขายังนับเป็นบุคคลหนึ่งที่มี “สายสัมพันธ์สูง” กับบุคคลแทบทุกกลุ่มทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษซึ่งเขายังมีความคุ้นเคยใกล้ชิดจนถึงขั้นสามารถเชิญบุคคลชั้นสูงและราชวงศ์อังกฤษ รวมถึง เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ และ เจ้าชายวิลเลี่ยม เข้าร่วมในกิจการกีฬาผ่านรายการขี่ม้าโปโลนัดการกุศล “จักกราวาตี้ – คิง เพาเวอร์ คัพ” เมื่อปี 2558
“เจ้าสัววิชัย” เกิดวันที่ 5 มิถุนายน 2501 เดิมใช้สกุล “รักศรีอักษร” เป็นบุตรของ นายวิวัฒน์ รักศรีอักษร กับนางประภาศร รักศรีอักษร ต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสกุล “ศรีวัฒนประภา” ให้เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่วงศ์ตระกูล
ด้านการศึกษา จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมศึกษาวูดลอว์น ประเทศสหรัฐอเมริกา และศิลปศาสตรบัณฑิต สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยนอร์ททอร์ป ประเทศสหรัฐอเมริกา
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ นางเอมอร มีบุตรทั้งหมด 4 คน ได้แก่ นางสาววรมาศ ศรีวัฒนประภา, นายอภิเชษฐ์ ศรีวัฒนประภา, นางสาวอรุณรุ่ง ศรีวัฒนประภา และ นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นรองประธานสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” และมีส่วนช่วยในการบริหารทีมฟุตบอลจนก้าวสู่ตำแหน่งแชมป์พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2015–2016
- เจ้าแห่งธุรกิจดิวตี้ฟรี
“เจ้าสัววิชัย” เป็นนักธุรกิจชาวไทยที่มีผลงานการบริหารธุรกิจมามากมาย เคยทำงานด้านธุรกิจต่าง ๆ ทั้งกิจการของตนเองและร่วมบริหาร เช่น บริษัท ศรีอักษร (1980) จำกัด, กรรมการบริษัท ไทยนิชิกาวา อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูโรป้าปริ๊นซ์ จำกัด (มหาชน), กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดาวน์ทาวน์ ดี.เอฟ.เอส.(ไทยแลนด์) จำกัด และกรรมการบริษัท ยูโรป้าปริ๊นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด
“เจ้าสัววิชัย” เริ่มต้นธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี (Duty Free) ที่สนามบินฮ่องกงเป็นแห่งแรกจากคำชักชวนของเพื่อนนักธุรกิจชาวฮ่องกง เมื่อปี 2532 หลังจากนั้นได้พยายามก้าวเข้าสู่ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในประเทศไทยโดยใช้ความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับบุคคลในรัฐบาล จนสามารถเปิดร้านค้าปลอดภาษีแห่งแรก ณ อาคารมหาทุนพลาซ่า ถ.เพลินจิต กรุงเทพฯ ในปี 2532 ต่อมาเขาได้ไปบุกเบิกธุรกิจที่ประเทศกัมพูชา จีน และมาเก๊า ซึ่งค่อนข้างไปได้ดีกว่าธุรกิจในประเทศไทยในช่วงนั้น
จนกระทั่งปี 2538 เขาได้รับสัมปทานธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินดอนเมือง ก่อนที่จะเริ่มผงาดเป็น “เสือติดปีก” ในปี 2549 เมื่อสนามบินสุวรรณภูมิพร้อมเปิดใช้งาน โดย “คิง เพาเวอร์” คือบริษัทเดียวที่ได้บริหารพื้นที่ให้เอกชนอื่น ๆ เช่าทำธุรกิจในอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ และ “คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์” ซึ่งเช่าที่ดินจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในซอยรางน้ำ เขตพญาไท กรุงเทพฯ ก่อนที่จะได้รับพระราชทานตราตั้ง “ครุฑ” ในปี 2552
ปัจจุบัน “คิง เพาเวอร์” มีทั้งหมด 9 สาขา ได้แก่ สาขารางน้ำ, ศรีวารี, พัทยา, ภูเก็ต, ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ท่าอากาศยานดอนเมือง, ท่าอากาศยานภูเก็ต, ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานหาดใหญ่
ว่ากันว่า “เจ้าสัววิชัย” มีเพื่อนสนิทคือ “เนวิน ชิดชอบ” อดีตนักการเมืองคนสำคัญใน “รัฐบาลทักษิณ” จนส่งผลให้เข่มีความสัมพันธ์ที่ดีมากกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนถึงขั้นใช้สำนักงานส่งแฟกซ์แถลงการณ์ให้ “ทักษิณ” ในช่วงหลังถูกทหารโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจ เมื่อปี 2549
ในครั้งนั้น “คิง พาวเวอร์” ถูกจับตาว่าจะถูกผลกระทบจากการยึดอำนาจครั้งนั้นหรือไม่ แต่แล้วด้วยความสามารถในการต่อสายสัมพันธ์กับผู้นำการรัฐประหาร ทำให้เขารอดพ้นจากที่หลายคนคาดการณ์ ประกอบกับ “เนวิน ชิดชอบ” เพื่อนสนิทของเขาเปลี่ยนขั้วการเมืองหันมาหนุนอีกฝากหนึ่งขึ้นเป็นรัฐบาล ทำให้ “เจ้าสัววิชัย” สามารถต่อสายสัมพันธ์ต่อเนื่องมาถึงยุครัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ”
- ก้าวสู่ธุรกิจกีฬา
ในเดือนสิงหาคม 2553 “เจ้าสัววิชัย” พร้อมผู้ร่วมทุนในนาม “กิจการร่วมค้าเอเชียนฟุตบอลอินเวสต์เมนท์” ได้ซื้อกิจการสโมสรฟุตบอล “เลสเตอร์ ซิตี้” ต่อจากนายมิลาน แมนดาริช อดีตเจ้าของและประธานสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านปอนด์ พร้อมเปลี่ยนชื่อสนามจาก “วอล์กเกอร์ส สเตเดียม” เป็น “คิง เพาเวอร์ สเตเดียม” และได้บริหารทีมสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้ จนคว้าแชมป์ “เดอะ แชมเปี้ยนชิพ” และเข้าไปเล่นในพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จในฤดูกาล 2014-2015 จนในฤดูกาล 2015–16 สามารถสร้างปรากฏการณ์ดังเทพนิยายในแวดวงลูกหนังด้วยการคว้าแชมป์ “พรีเมียร์ลีก” เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสร
ไม่เพียงเท่านั้น ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 กลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” ยังได้รับอนุมัติให้มีการซื้อขายสโมสร “เอาด์-เฮเฟอร์เลเลอเฟิน” ซึ่งเป็นสโมสรในระดับดิวิชั่น 2 ของประเทศเบลเยี่ยม ทั้งยังได้ดึงตัว “กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์” ผู้รักษาประตูทีมชาติไทย ให้ไปร่วมทีมในช่วงเปิดตลาดซื้อขายนักเตะของลีกเบลเยียมเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2561 อีกด้วย
เมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2561 “เจ้าสัววิชัย” ยังสร้างความฮือฮาในวงการธุรกิจไทยครั้งใหญ่เมื่อซื้อหุ้นของ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่ที่ถือหุ้นร้อยละ 55 ของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” ในสัดส่วนร้อยละ 39 มูลค่ารวมประมาณ 7,945 ล้านบาทจาก “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” และครอบครัว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการลงทุนระยะยาวของตนและครอบครัวโดยไม่มีแผนซื้อมาเพื่อขายต่อแต่อย่างใด เนื่องจากมีข้อจำกัดตามกฎหมายอันเกี่ยวกับการเดินอากาศที่ได้กำหนดสัดส่วนการถือครองหุ้นว่า ผู้ถือหุ้นต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่งทำให้ยากต่อการที่จะหาผู้ที่มีความสนใจที่จะซื้อหุ้น AAV เป็นจำนวนมากได้ ที่สำคัญการซื้อหุ้นครั้งนั้นยังถือเป็นการส่งเสริมธุรกิจค้าปลีกและสายการบิน ตลอดจนสร้างโอกาสใหม่ในธุรกิจให้แข็งแกร่ง รวมถึงการพัฒนาแบรนด์ “คิง เพาเวอร์”, “ไทยแอร์เอเชีย” และสโมสร “เลสเตอร์ ซิตี้” ร่วมกันในระดับนานาชาติ
ทว่าต่อมา ในช่วงเดือนธันวาคม 2560 “ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย ประกาศซื้อหุ้น AAV คืนจาก “เจ้าสัววิชัย” ในสัดส่วนร้อยละ 36.3 ในราคา 4.70 บาทต่อหุ้น รวมกว่า 1,761 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8,279 ล้านบาท จนได้กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกำหนดทิศทางธุรกิจของสายการบิน “ไทยแอร์เอเชีย” อีกครั้ง
- ขุมทรัพย์กลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์”
จากข้อมูลของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า กลุ่มบริษัท “คิง เพาเวอร์” มีธุรกิจต่าง ๆ 16 บริษัท แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ “กลุ่มธุรกิจดิวตี้ฟรี” มี 9 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบธุรกิจร้านค้าขายปลีก, ร้านค้าปลอดภาษีอากร, บริการจัดการร้านค้าปลอดอากรในเมือง, บริหารจัดการป้ายโฆษณาภายในสนามบินหลายแห่ง อาทิ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และภูเก็ต ตลอดจนบริหารจัดการโรงละคร “อักษรา คิง เพาเวอร์” ร้านอาหาร “รามายณะ” และร้านอาหาร “ลามูน”
2.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรและให้บริการจุดส่งมอบสินค้า (Pick-up Counter) ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ โดยผู้ซื้อสินค้าปลอดอากรในเมืองของ “คิง เพาเวอร์” สามารถรับสินค้าได้ที่จุดส่งมอบสินค้าสนามบินสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง และอู่ตะเภา
3.บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดภาษีและบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
4.บริษัท คิง เพาเวอร์ มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบินระหว่างประเทศ
5.บริษัท คิง เพาเวอร์ มาเก็ตติ้ง แอนด์ เมเนจเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายสินค้าปลอดอากรบนเครื่องบินของสายการบินไทย,สายการบินไทยแอร์เอเชีย, สายการบินไทยสมายล์ และสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์
6.บริษัท คิง เพาเวอร์ โฮเทล เมเนจเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจบริหารจัดการโรงแรม “พูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ” และภัตตาคารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการ “คิง เพาเวอร์ คอมเพล็กซ์”
7.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
8.บริษัท คิง เพาเวอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ประกอบธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม
9.บริษัท คิง เพาเวอร์ เอวิเอชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจขนส่งคนโดยสาร ไปรษณีย์ สิ่งของ พัสดุภัณฑ์ทางอากาศ รวมถึงการขนถ่ายสินค้าทางอากาศทั้งในและต่างประเทศ
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มธุรกิจทั่วไปที่ไม่เกี่ยวข้องกับดิวตี้ฟรี มี 7 บริษัท ได้แก่
1.บริษัท วี แอนด์ เอ โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการเครื่องหมายการค้า ร่วมลงทุนในกิจกรรมทุกประเภท จัดสรรที่ดิน บริการสนามกอล์ฟ และสนามโปโล
2.บริษัท สยาม ดี.เอฟ.เอส. จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม
3.บริษัท น้องละมุน จำกัด ประกอบธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์และอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยง
4.บริษัท เอมธรรมชาติ จำกัด ประกอบธุรกิจเพาะปลูกและจำหน่ายพืชผลทางการเกษตรทุกชนิด
5.บริษัท วี.อาร์.เจ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการลานจอดรถยนต์ทุกประเภท
6.บริษัท สยาม โปโล ปาร์ค จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการดูแลม้าที่ใช้ในการเล่นกีฬาโปโล
7.บริษัท บ้านพราวดาว จำกัด ประกอบกิจการจัดสรรและค้าที่ดิน
ในแง่การเมือง “เจ้าสัววิชัย ศรีวัฒนประภา” เคยปรารภว่า
“ผมไม่เคยมีแผนเล่นการเมือง เพราะผมมีบุคลิกไม่เหมาะกับการเป็นนักการเมือง ทั้งยังไม่ชอบออกงานสังคมและไม่ชอบพูดในที่สาธารณะ”