alivesonline.com : “มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล” ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดงาน “มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3” (Thailand Friendly Design Expo 2018) แสดงสินค้า เทคโนโลยี นวัตกรรม การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล (Friendly Design) เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ตามแนวคิด “Smart Living for All : คุณภาพชีวิตที่นำสมัยเพื่อคนทั้งมวล” ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี หวังยกระดับความพร้อมด้านการลงทุนอารยสถาปัตย์ไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ด้วยจำนวนผู้สูงวัยมากกว่า 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรทั้งประเทศ
“กฤษนะ ละไล” ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อการรวมพลังทุกภาคส่วนในสังคมให้มาร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็น “เมืองอารยสถาปัตย์” ที่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย และเป็น “เมืองท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่โดดเด่นชัดเจนในเวทีโลก
“ถ้าเราทำ 2 อย่างนี้ได้สำเร็จ ย่อมส่งผลโดยตรงต่อทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น มนุษย์ล้อ และครอบครัวที่มีเด็กเล็กที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะจะได้รับความสะดวกและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งในการดำเนินชีวิตและการเดินทางท่องเที่ยว ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม การบริการ และการออกแบบที่เป็นอารยสถาปัตย์ ตามหลักการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล หรือ Friendly Design ซึ่งเราได้รวบรวมมาจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อนำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันภายในงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ปีที่ 3”
ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ” อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พ.ม.) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักการจัดงาน กล่าวว่า อารยสถาปัตย์เป็นแนวคิดเชิงก้าวหน้า การเสริมความเป็นอารยสถาปัตย์เข้าไปในนวัตกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ในตึกอาคาร บ้านเรือน ตลอดจนสถานที่สาธารณะ หรือระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ จะทำให้คนทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงการใช้งานได้ ก่อให้เกิดความเท่าเทียม และอิสระในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น
“แนวคิดนี้จะเป็นก้าวสำคัญคอยขับเคลื่อนประเทศไทยให้เข้าใกล้สู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 มากขึ้น สำหรับงาน Thailand Friendly Design Expo 2018 กระทรวงฯ ได้จัดพื้นที่รวมรวบแนวความคิดจากทุกโซนในงานมาไว้ในพาวิลเลี่ยนของ กระทรวง พ.ม. เพื่อเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมสังคมไทยในปัจจุบันที่มีนวัตกรรมอันหลากหลายซึ่งช่วยให้การดำเนินชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุมีความสะดวกมากขึ้น”
“อิทธิพล คุณปลื้ม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ร่วมกับ มูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ดำเนินการขับเคลื่อนและรณรงค์การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและใช้เส้นทางนำร่อง 9 เส้นทางใน 9 จังหวัดที่จัดทำโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนเข้าถึงได้ไปเที่ยวได้สะดวกและปลอดภัย โดยได้นำมาจัดแสดงในงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ในครั้งนี้ด้วย
“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงาน กล่าวว่า “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” (Tourism for All) เป็นแนวคิดที่สอดคล้องกับประเทศไทยอย่างยิ่งจากปัจจัยด้านสถานที่ท่องเที่ยวมากมายในประเทศ เมื่อรวมกับแนวคิดนี้จะสามารถยกระดับการจัดการการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวทุกสภาพร่างกาย ที่สำคัญ ททท. ยังร่วมมือกับ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว รวมถึงโรงแรมจากภาคเอกชนที่จะมารวมตัวกันสร้าง 9 เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลต่อยอดสู่การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่รองรับทั้งผู้สูงวัยและส่งเสริมให้ผู้พิการมีสิทธิในด้านการท่องเที่ยวอย่างเท่าเทียม
“สราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB กล่าวว่า TCEB ได้ร่วมสนับสนุนการจัดงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพราะเล็งเห็นถึงความสำคัญและโอกาสของประเทศไทยในการส่งเสริมสินค้า เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุให้ได้รับความสะดวก ปลอดภัย ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้ประเทศไทยพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์กลางของการจัดแสดงสินค้า บริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกับ Friendly Design และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคต
“อัญชลี หวังวีระมิตร” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงาน กล่าวว่า ปตท.ได้ร่วมสนับสนุนงานมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ เพราะเป็นประโยชน์สุขต่อสังคม คนสูงอายุ และคนพิการ ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีนโยบายเรื่องอารยสถาปัตย์ หรือ Friendly Design ในการออกแบบและสร้างทำสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในสถานีบริการน้ำมันของ ปตท.ทั่วประเทศ เพื่อรองรับการใช้งานของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มวัยในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการที่สามารถมาใช้บริการต่าง ๆ ภายในปั้ม ปตท.ได้ โดยสะดวกสบาย เช่น ห้องสุขา ร้านกาแฟอเมซอน ร้านสะดวกซื้อ ที่จอดรถ ฯลฯ ทุกที่มี Friendly Design ที่ทุกคนเข้าถึงได้ สะดวก ปลอดภัย และยังครอบคลุมด้านความปลอดภัยทั้งกล้อง CCTV และปุ่มกดแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
“จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี” หอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน ร่วมมือกับ คณะกรรมการระดับสูงของหอการค้าไทย-จีน บริจาคเงิน เพื่อมอบขาเทียมในงานอารยสถาปัตย์ และประสานกับ มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จย่า เพื่อมาทำขาเทียมมอบให้กับผู้พิการที่ขาดแคลน โดยไม่มีค่าใช่จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น โดยในปีที่ผ่านมาถือว่าได้ช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการที่ขาดแคลนให้มีความสุขยิ่งขึ้น เพราะผู้ที่เข้าร่วมโครงการมารับขาเทียม ในช่วงเช้านั่งวีลแชร์ แต่ตอนเย็นเดินกลับบ้าน ถือได้ว่าช่วยสร้างรอยยิ้มและความสุข ให้ได้มีกำลังใจในการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น หอการค้าไทย-จีนจะดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องต่อไป สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมทางเว็บไซต์ หอการค้าไทย-จีน (สำหรับโครงการขอรับขาเทียมโดยหอการค้าไทย-จีน ได้เฉพาะงานอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3)
“ภูษิต ศศิธรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด ในฐานะผู้ร่วมจัดงานได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดงานครั้งนี้ว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ มีการสำรวจประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทย ปี 2560 พบว่ามีจำนวนผู้สูงอายุทั้งสิ้น 11.3 ล้านคน คิดเป็น 16.7% จากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน ทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าในปี 2564 ประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20% ทำให้เข้าสู่สังคมคนสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในปี 2574 จะมีจำนวนประชากรถึง 28% ทำให้เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด
เขากล่าวด้วยว่า สถิติของผู้พิการก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้พิการเกือบ 2 ล้านคนซึ่งถือเป็นประชากรเกือบ 3% ของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตั้งแต่นี้เป็นต้นไป “เอ็กซ์โปลิงค์” จึงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนางาน “Thailand Friendly Design Expo 2018” ให้สอดคล้องกับความเป็นสากลมากขึ้น เพราะมีหลายประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ถูกจัดเป็นระดับสังคมสูงวัยระดับสุดยอด การยกระดับงานสู่สากลจึงจะเป็นการได้เปิดรับนวัตกรรมจากต่างประเทศ รวมถึงแสดงอารยสถาปัตย์ไทยสู่อีกหนึ่งทางเลือกของต่างชาติ ซึ่งงานนี้จะเป็นตัวชี้วัดบ่งบอกเม็ดเงินการตลาดโดยรวมของอารยสถาปัตย์ที่มีมูลค่าการตลาดประมาณ 1 หมื่นล้านบาท
งาน “Thailand Friendly Design Expo 2018” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-3 ธันวาคม ณ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี จะมุ่งเน้นการดูแล รักษา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ และคนที่ใช้รถเข็น ให้ได้รับความสะดวก สบาย ทันสมัย และปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในการดำเนินชีวิต รวมถึงการเดินทางพักผ่อนท่องเที่ยว
ภายในงานจะแบ่งออกเป็น 5 โซนหลัก ได้แก่ โซนคุณภาพชีวิตที่นำสมัย (Smart Living for All), โซนการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Design for All), โซนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All), โซนอาหารเพื่อคนทั้งมวล (Food for All) และโซนสินค้า (Friendly Design)
งาน Thailand Friendly Design Expo 2018 จะเปี่ยมไปด้วยความสุขและสาระคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นขบวนแห่รณรงค์สิทธิความเสมอภาค Friendly Design Carnival 2018 แห่งแรกและแห่งเดียวในโลก, การแสดงจากผู้สูงอายุ ผู้พิการ และมนุษย์ล้อจากหลายประเทศทั่วโลก, การบรรยายโดยวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมแนวคิดเพื่อคนทั้งมวล เช่น Friendly Design Awards 2018 หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวลของเยาวชน นิสิต นักศึกษาที่จะเป็นบันไดช่วยส่งเสริมหัวใจหลักของความสุขและความเท่าเทียม และยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญให้คนทั่วไปได้รับรู้ร่วมกันว่า…
ทุกคนในสังคมพึงจะต้องปฏิบัติตามกติกาสังคมและกติกาโลกยุคใหม่ว่าทุกชีวิตเท่าเทียมกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ (Left No One Behind) อีกต่อไป