Special Story » ภาคการผลิตต้องรับมือยุค AI อย่างไร ?

ภาคการผลิตต้องรับมือยุค AI อย่างไร ?

5 ธันวาคม 2019
0

 

alivesonline.com : หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมการผลิตในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวแล้ว ปัจจัยสำคัญในการรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือ “แรงงาน” ที่ในวันนี้ได้รับอิทธิพลจากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมการผลิตมากยิ่งขึ้น

“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” จึงได้จัดทำการสำรวจและวิจัยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตพบว่า การปรับปรุงพัฒนาแรงงานของตนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมการผลิตกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติทักษะโดยได้รับแรงผลักดันเบื้องต้นจากระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ รวมทั้งเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าตำแหน่งงานในภาคการผลิตแบบในอดีตได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปแบบใหม่ที่จะทำให้สายงานผลิตสามารถทำงานได้รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงนี้ยังเป็นแรงผลักดันที่ดีสำหรับความประพฤติในเชิงบวก และยังก่อให้เกิดความท้าทายกับผู้ผลิตเกินกว่าจะละเลยได้ ขณะที่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีความกดดันเกี่ยวกับการนำระบบดิจิทัลมาใช้น้อยกว่าและการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานอาจเป็นไปอย่างช้า ๆ แตกต่างจากอุตสาหกรรมการผลิต

สำหรับกลุ่มผู้ผลิตที่นำระบบอัตโนมัติมาใช้มากที่สุดถือเป็นผู้สร้างงานมากที่สุด จากผลสำรวจระบุว่าผู้ผลิตร้อยละ 87 วางแผนที่จะเพิ่ม หรือคงไว้ซึ่งจำนวนพนักงานอันเนื่องมาจากการใช้ระบบอัตโนมัติเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกัน ระหว่างการสร้างงานและการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 12 ปี ดังนั้นการเพิ่มพูนทักษะให้แรงงานปัจจุบันอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีและเมื่อองค์กรไม่สามารถหาบุคลากรผู้มีความสามารถจากภายนอกได้ การค้นหาโดยการสร้าง การซื้อ การยืม และการต่อยอดบุคลากรผู้มีความสามารถเป็นสิ่งสำคัญที่สุด สอดคล้องกับกลยุทธ์ของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ที่ได้วางไว้เช่นกัน

สำหรับกลยุทธ์ในการร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมการผลิต (ผู้ผลิต) กับภาคการศึกษา เพื่อร่วมพัฒนาแรงงานให้สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมนั้น “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมภาคการผลิตและเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทร่วมเป็นพันธมิตรกับ “เอ็มเอ็กซ์ดี” เพื่อวางแผนตำแหน่งงานในอนาคตที่จะเป็นปัจจัยส่งเสริมความเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ ทั้งยังได้ร่วมมือพัฒนาเกี่ยวกับทักษะและตำแหน่งงานจะที่ช่วยสนับสนุนองค์กรภาคการผลิตที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลวิจัยดังกล่าวระบุว่า หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติ เป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ผลิตสามารถระบุความต้องการในการพัฒนาทักษะของตนได้และยังกำลังช่วยสร้างงานให้มนุษย์ โดยปัจจุบันงานที่เราร่วมดำเนินการกับ “เอ็มเอ็กซ์ดี” ทำให้ทราบว่าจะสามารถคาดการณ์ด้วยระดับความแม่นยำที่เพียงพอเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีที่มีต่อการจ้างงาน ประเภทงานที่ยังคงอยู่ และประเภทงานที่จะสูญหายไป หรือเปลี่ยนแปลงไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า อันเนื่องมาจากผลกระทบของระบบดิจิทัล  นอกจากนี้ ยังทำให้ทราบว่าเกือบครึ่งของตำแหน่งงานทั้งหมดในภาคการผลิตคิดเป็นร้อยละ 49 ต้องมีการเปลี่ยนแปลงภายใน 3-5 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ กว่า 1 ใน 4 ของตำแหน่งงานในพื้นที่การผลิตในโรงงานจะสูญหายไป

ขณะเดียวกัน ยังได้ระบุตำแหน่งงานใหม่ขึ้นอีก 165 ตำแหน่งซึ่งตำแหน่งงานส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ โดยงานวิจัยยังพบด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอสำหรับการทำให้เกิดพลังที่เข้มแข็งในองค์กร แต่ยังต้องพัฒนา “ผู้บริหารดิจิทัล” ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และพร้อมทำงานในระบบดิจิทัล รวมถึงมีความทุ่มเทในการสร้างวัฒนธรรมและสมรรถนะที่จำเป็นภายในองค์กร เพื่อสร้างโอกาสและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพและสำเร็จลุล่วง

ผลวิจัยยังระบุอีกว่าร้อยละ 16 ของบริษัทคาดการณ์ว่าจะเพิ่มจำนวนพนักงานในสายงานไอที ซึ่งจะเป็นการขยายช่องว่างที่มีอยู่ระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงาน ในขณะที่ร้อยละ 38 ขององค์กรกล่าวว่าการฝึกอบรมทักษะด้านเทคนิคที่เป็นที่ต้องการและเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก 

นอกจากนี้ การฝึกอบรมทักษะด้านการสื่อสารและประสานงานเป็นเรื่องที่ยากกว่า ขณะที่ความต้องการทักษะด้านนี้เพิ่มสูงขึ้นในทุกอุตสาหกรรม โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ในประเทศสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 22 ในทวีปยุโรป พร้อมกันนี้ยังมีการระบุอีกว่าภายใน 5 ปี คนในกลุ่มมิลเลนเนียลและรุ่นแซดจะมีจำนวนมากกว่า 2 ใน 3 ของแรงงานทั่วโลก โดยแรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 87 ต้องการงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น งานสัญญาจ้าง งานพาร์ทไทม์ และงานชั่วคราว

อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจทุกขนาดอาจจะเผชิญกับปัจจัยและปัญหาต่างกันออกไป องค์กร หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความต้องการทักษะที่สำคัญและเร่งพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการแย่งชิงบุคลาการที่มีความสามารถสูง และเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงต้องยอมลงทุนทั้งด้านเวลา ทรัพยากร และวางกลยุทธ์ในการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้น ส่วนองค์กร หรือบริษัทที่มีขนาดเล็กลงมาอาจจะมีงบประมาณในการลงทุนน้อยกว่าและยังมองว่าการฝึกอบรมข้างต้นใช้เวลานานเกินไป รวมทั้งต้องวางแผนอย่างรัดกุมและพยายามหาทางให้บริษัทยังคงเป็นผู้นำในตลาดให้ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในบริบทเช่นนี้การวางแผนกำลังคนจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กรทุกประเภท

ในอนาคตจะมีลักษณะของการพัฒนาตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของการทำงานอย่างรวดเร็ว จากการระบุตำแหน่งงานจำนวน 165 ตำแหน่งในสายงานผลิต “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ได้ช่วยให้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคการผลิตให้เตรียมพร้อมรองรับความจำเป็นในการเติบโตในอนาคต การใช้ระเบียบวิธีการเดียวกันในการแบ่งย่อยตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบงานที่คาดการณ์ไว้ซึ่งจะทำให้องค์กร หรือบริษัทต่าง ๆ สามารถวางแผนความต้องการในอนาคตเมื่อเทียบกับกำลังคน (แรงงาน) ตลอดจนการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ปัจจุบันโดยการเพิ่มพูนทักษะ การว่าจ้างด้วยตนเอง และการว่าจ้างจากบริษัทภายนอก ไม่มีอุตสาหกรรมใดที่รอดพ้นจากการปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลแต่ทุกอุตสาหกรรมจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงได้มีประสิทธิภาพ

จากผลวิจัยดังกล่าวจึงทำให้สรุปภาพรวมตลาดแรงงานของอุตสาหกรรมการผลิตได้ว่า ถึงแม้จะมีปัจจัยบอกและปัจจัยลบตามผลวิจัยข้างต้น แต่ก็ถือเป็นส่วนสำคัญให้องค์กรทั้งขนาดเล็กจนถึงใหญ่ต้องวางยุทธศาสตร์และการพัฒนาทักษะแรงงานให้ทันและพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการผลิต รวมทั้งตำแหน่งงานใหม่ในภาคการผลิตที่จะเกิดขึ้นอีก 165 ตำแหน่งที่ชี้ให้เห็นว่าจะต้องเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจและยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถรองรับการแข่งขันในอุตสาหกรรมต่อไป