Special Story » “พริ้นซิเพิล แคปิตอล” นำร่องใช้ระบบ Healthcare Ecosystem ในไทย

“พริ้นซิเพิล แคปิตอล” นำร่องใช้ระบบ Healthcare Ecosystem ในไทย

16 ธันวาคม 2019
0

alivesonline.com : ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจการแพทย์ โดยเฉพาะ เทคโนโลยีสุขภาพ หรือ (HealthTech) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างเห็นได้ชัด เช่น การนำระบบฐานข้อมูลมาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา ระบบการจัดการทางการแพทย์ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น และยังมีอีกหลายระบบที่อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยมีความแม่นยำและการดำเนินงานภายในโรงพยาบาลมีความคล่องตัวมากขึ้น

“พริ้นซิเพิล แคปิตอล” ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลและธุรกิจเพื่อสุขภาพภายใต้การบริหารงานของบริษัทในเครือ “พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์” เป็นองค์กรที่เห็นความสำคัญในการนำ HealthTech มาใช้ โดยเป็นผู้นำร่องรายแรกของไทยในกลุ่มเฮลท์แคร์ที่มีการนำระบบ “Healthcare Ecosystem” หรือระบบการเกื้อหนุนกันทางด้านสาธารณสุขมาใช้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย เพื่อตอบโจทย์การพัฒนางานด้านสาธารณสุขให้ประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้ประโยชน์สูงสุด โดยมีเป้าหมายให้เกิดเครือข่าย Healthcare Ecosystem เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ของไทยก้าวสู่สากลในอนาคต โดยได้ร่วมมือกับพันธมิตร 10 รายที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในแต่ละสาขาในการพัฒนาระบบ Healthcare Ecosystem ได้แก่

1.บริษัท Human Centric จำกัด ผู้ให้บริการโซลูชัน Hospital Information System โดยเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบคลาวด์เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวกและแม่นยำ

2.บริษัท MEDCury จำกัด ผู้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับการป้องกันและรักษาโรค รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนผ่านแอปพลิเคชัน

3.คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ช่วยด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงการบูรณาการองค์ความรู้ทางการแพทย์เข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่

4.วิวัฏฏะคลินิก ผู้ให้คำปรึกษาบำบัดโรคเรื้อรังด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน แผนไทยประยุกต์ และธรรมชาติบำบัดด้วยสมุนไพรและโภชนาการเฉพาะบุคคล

5.มูลนิธิพงษ์ศักดิ์วิทยากร จัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการจัดทำบทเรียนออนไลน์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้แสวงหาความรู้ทางด้านสุขภาพและสุขอนามัย

6.บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านกระดูกและข้อให้กับกลุ่มคนระดับกลางทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการแพทย์ระหว่างเครือข่าย

7.สถาบันสุขภาพและความงามครบวงจร Prima Aesthetica by Renovia ที่มีความชำนาญด้านนวัตกรรมสุขภาพและความงามมากกว่า 20 ปี

8.บริษัท NK Group ผู้ประกอบการด้านการดูแลผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์มากว่า 50 ปี

9.Healthcare Information and Management Systems Society หรือ HIMSS ที่ให้การรับรองมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาลในกลุ่มมาตรฐาน EMRAM

10.สถาบันพัฒนาบุคลากร White Rabbit Management ช่วยในเรื่องการออกแบบหลักสูตรการอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการจัดการตามกรอบมาตรฐานที่กำหนด

ดร.สาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวคิดในการนำระบบดังกล่าวมาใช้กับการบริหารธุรกิจโรงพยาบาลว่า Healthcare Ecosystem เป็นแนวคิดที่ “พริ้นซิเพิล แคปิตอล” นำมาใช้โดยลงทุนและพัฒนาระบบร่วมกับโรงพยาบาลในเครือข่ายและพันธมิตร เพื่อทำให้โรงพยาบาลในเครือข่ายเป็นโรงพยาบาลดิจิทัลที่มีการบูรณาการเทคโนโลยีระบบสารสนเทศเข้ากับบริการทางการแพทย์และกระบวนการทำงานภายในโรงพยาบาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกและปลอดภัย สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้รับบริการเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด โดยได้เริ่มต้นไปแล้วที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ และประสบความสำเร็จจนได้รับการรับรองมาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศโรงพยาบาล ขั้นที่ 7 (HIMSS Analytics Stage 7) ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของมาตรฐาน EMRAM หรือ Electronic Medical Record Adoption Model นับเป็นโรงพยาบาลแรกและโรงพยาบาลเดียวในประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานนี้ ทั้งยังเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อจากสิงคโปร์ โดยบริษัทฯ จะนำระบบนี้ไปใช้งานยังโรงพยาบาลอื่น ๆ ในเครือ และต่อยอดไปยังระบบอื่นๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยต่อไป

ล่าสุด “พริ้นซิเพิล แคปิตอล” ได้เปิดให้บริการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่มีความพร้อมในการให้บริการทางการแพทย์อย่างรอบด้าน และพริ้นซิเพิล แคปิตอล ยังมีเป้าหมายที่จะให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นศูนย์กลาง (Hub) ในด้าน Healthcare Ecosystem ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายด้วย โดยในพิธีเปิดได้มีการจัดเสวนาใน 2 หัวข้อที่น่าสนใจ หัวข้อแรก ได้แก่ The Rise of AI : The Future of Healthcare” ร่วมเสวนาโดยนายพานนท์ สุภิรัตน์ COO บริษัท MEDCury จำกัด นายจตุภล ชวพัฒนากุล กรรมการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แบ็คยาร์ด จำกัด ดร.รัตน์ชัยนันท์ ธรรมสุจริต ประธานหลักสูตร Data Science for Healthcare ภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึง บทบาทของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการทำงานของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการแพทย์ในอนาคตที่ AI สามารถช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว เนื่องจากเป็นระบบที่สามารถวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่มีอยู่มหาศาลออกมาเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งในทางการแพทย์ AI สามารถวิเคราะห์เชื้อโรคจากภาพถ่าย รวมไปถึงสกัดข้อมูลที่จำเป็นต่อการวินิจฉัยโรคได้

สำหรับหัวข้อที่สอง ได้แก่ Digital Hospital : The Journey of HIMSS EMRAM STAGE 7 Achievement” ร่วมเสวนาโดยนายแพทย์กิตติพงษ์ ประวีณวงศ์วุฒิ กรรมการบริษัท ฮิวแมน เซนทริค จำกัด นายวิทมนต์ ภริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิวแมน เซนทริค จำกัด นายแพทย์บุญชนะ เพชรพลอยงาม รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ เภสัชกรพัฒนศักดิ์ ถนัดค้า รองผู้จัดการฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลพริ้นซ์ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โดยใจความสำคัญในหัวข้อนี้กล่าวถึงเส้นทางความสำเร็จของโรงพยาบาลพริ้นซ์ ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ ในการนำระบบไอทีมาใช้จนได้รางวัล HIMSS Analytics EMRAM Stage 7 ซึ่งการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้ที่จัดเก็บในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บนระบบคลาวด์ ทำให้สามารถค้นหา หรือดึงข้อมูลออกมาใช้ได้ง่าย หรือกรณีที่แพทย์เขียนใบสั่งยาด้วยลายมือที่อ่านยาก แต่เมื่อเปลี่ยนจากการเขียนใบสั่งยาด้วยลายมือมาให้แพทย์ลงรายละเอียดในระบบจะช่วยให้เภสัชกรที่จัดยาทำงานได้ง่าย ลดความผิดพลาดที่จะเกิดได้มาก และยังช่วยลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรจากการใช้เอกสารจำนวนมาก (Paperless) ซึ่งการลงทุนระบบถึงแม้จะมีต้นทุนในด้านของค่าใช้จ่าย แต่สามารถปิดจุดอ่อนและสร้างมาตรฐานการดำเนินงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี

“เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้เราไม่สามารถวางแผนการดำเนินงานในระยะยาวได้ การจะนำเทคโนโลยีอะไรมาใช้ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ใช้แผนระยะสั้น มิฉะนั้นเทคโนโลยีจะ Disrupt เรา การทำ Healthcare Ecosystem เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกลุ่มพริ้นซิเพิล แคปิตอล เท่านั้น ในอนาคตนอกจากการวางระบบให้กับทุกโรงพยาบาลในเครือแล้ว เรามุ่งหวังจะต่อยอดเพื่อให้เครือข่ายขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น ถือเป็นการสร้างสังคมและชุมชนแห่งการให้ที่เป็นปณิธานหลักขององค์กรเรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ทุกคน และเป็นประโยชน์กับวงการสาธารณสุขของประเทศไทยในที่สุด“ ดร.สาธิต กล่าว

จึงนับเป็นโอกาสและความท้าทายสำหรับ “ธุรกิจเฮลท์แคร์” ซึ่งผู้ที่ปรับตัวรับมือกับการแข่งขันและสามารถก้าวทันเทคโนโลยีได้ก่อน ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบในเชิงธุรกิจ โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์คือประชาชนที่จะได้รับการบริการที่ดีและการรักษาที่มีประสิทธิภาพ