alivesonline.com : “สวนลุมพินี” คือสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นพระราชมรดกที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้แก่ชาวพระนคร โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2468 ที่ทรงครองราชสมบัติครบ 15 ปี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเป็นสวนพฤกษชาติเพื่อให้ประชาชนใช้ศึกษาและพักผ่อน โดยทรงเลือกบริเวณ “ทุ่งศาลาแดง” ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว พร้อมทรงสละพระราชสมบัติเป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่เพื่อขุดสระกว้างสร้างเกาะลอยกลางน้ำตัดถนน รวมถึงสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก ห้องสมุด และอื่น ๆ โดยพระราชทานชื่อว่า “สวนลุมพินี” หมายถึงสถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
“ห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี” จึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี พื้นที่บริเวณด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างในปี 2498 และเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร
ในปี 2535 กรุงเทพมหานคร ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุด โดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 168 ตารางเมตร จนถึงปี 2549 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายพัฒนาห้องสมุดประชาชนกรุงเทพมหานคร ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในนาม “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” (Discovery Learning Library) จึงเริ่มมีการปรับปรุง “ห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี” ครั้งใหญ่ จนกระทั่ง วันที่ 4 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” เพื่อให้เป็นห้องสมุดประชาชนสังกัด กรุงเทพมหานคร แห่งแรกที่ก้าวเข้าสู่ห้องสมุดมิติใหม่
ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้นำคณะผู้แทนของ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ด้านอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ซึ่งจัดโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปัจจุบัน “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปมาแล้วเป็นเวลา 62 ปี
กทม. จับมือ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย พัฒนา “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี”
ด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาห้องสมุดประชาชนให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรุงเทพมหานคร จึงมีแผนงานนำร่องในการปรับปรุงและพัฒนา “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากสภาพที่ตั้งโครงการเดิมของ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” มีลักษณะทางกายภาพเป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย แบ่งเป็น 2 ส่วนคือชั้นบนและชั้นใต้ดินเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยทางเข้าหลักจะเข้า-ออกผ่านทางอาคารสำนักหอสมุดด้านหน้าซึ่งติดกับถนนภายในของสวนลุมพินี พร้อมทั้งมีทางเชื่อมสู่ส่วน “โซนเด็กและเยาวชน” เป็นบันไดสู่ระดับที่อยู่ในชั้นใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมยุคโมเดริ์นที่มีรูปทรงเรียบง่าย
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีนโยบายปรับปรุงและพัฒนา “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ สวนลุมพินี” ภายใต้แนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ซึ่งในเบื้องต้นได้พัฒนาพื้นที่โซนเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิด “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นโถงอาคารที่มีพื้นที่ดิน อาคารเป็นรูป “แมลงเต่าทอง” สีแดงสดใส ตั้งอยู่ใจกลางสวนลุมพินี เพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาอ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมทักษะต่าง ๆ สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
“กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณ ธนาคารเอชเอสบีซี ที่ได้เข้ามาพัฒนาห้องสมุดสวนลุมพินีแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่และแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างเสริมสาธารณประโยชน์เพื่อเด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไป อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป”
ล่าสุด ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดย นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ได้ทำพิธีส่งมอบ “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” และร่วมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา
นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลกและธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พัฒนา “ห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้” ในเขตกรุงเทพมหานคร มาแล้วถึงสองแห่ง เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนไทยรักการอ่าน โดยในปี 2555 ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณด้านการก่อสร้าง ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ภายในบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นห้องสมุดประชาชนสีเขียวแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลด้านอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับ LEED Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตรฐานอาคารสีเขียวและได้รับการยอมรับในระดับสากล
นอกจากนี้ ในปี 2560 ยังได้สนับสนุนการปรับปรุงอาคารสำนักงานเก่าของกรุงเทพมหานครให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตคนเมือง” (Environmental Learning Centre for the Metropolitan) ภายในบริเวณสวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน เป็นการเพิ่มกิจกรรมทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการสวนกีฬารามอินทรา เพื่อศึกษาหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือและฝึกอาชีพด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านการบำรุงรักษาพืชพันธุ์ไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่กรุงเทพมหานครในระยะยาว
“ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” อนุสรณ์รำลึก 130 ปี ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย
เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 130 ปีในการดำเนินงานของ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ในปี 2561 ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต จึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอีกครั้ง โดยการปรับปรุง “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” ให้เป็น “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอาคารรูปเต่าทองสีแดงใจกลางสวนลุมพินีเพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาอ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ
ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการปรับปรุง “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” ให้มีลักษณะสื่อความหมายที่สนุก สดใส และสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการสะท้อนบุคลิกของเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นผู้ใช้บริการหลัก พร้อมเพิ่มเติมการออกแบบ “กระดานลื่น” ในลักษณะ “สไลด์เดอร์”ภายในพื้นที่ โดยยึดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนในการเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ ตามแนวคิด “เพลิน” (Plearn) อันมีที่มาจากคำว่า “Play” คือการเล่น และคำว่า “Learn” คือการเรียนรู้ โดยใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุงพื้นที่ 168 ตารางเมตรของชั้นใต้ดิน ให้มีคุณค่ามากกว่าการเป็นสถานที่รวบรวมสื่อเพื่อการเรียนรู้และหนังสือของเด็กและเยาวชนมากกว่า 1 หมื่นเล่ม
ด้วยเหตุนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงใช้งบประมาณส่วนหนึ่งที่จัดสรรไว้สำหรับการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปีเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งเป็นอนุสรณ์สำคัญเนื่องในวาระการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 130 ปีของธนาคารฯ
ในส่วนของการปรับปรุงและพัฒนาภายนอกอาคารได้ใช้แนวความคิดในเชิงอุปมาอุปไมย (Metaphor Conceptual Design) โดยอาศัยลักษณะสีสันของ “แมลงเต่าทอง” (Lady Bug) ซึ่งเป็นแมลงที่มีเอกลักษณ์ภายนอกที่สดใส เพื่อให้เด็กและผู้คนทั่วไปเกิดการจดจำที่ง่าย โดยใช้ “สีแดง” เพื่อให้เป็นสื่อที่สร้างองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ที่ตัดกับความเป็นสีเขียวของสวน เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีโอกาสเห็นและสัมผัส “แมลงเต่าทอง” ไม่มากนัก เนื่องจากการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงในไร่และสวนจำนวนมากนั่นเอง
“นอกจากการพัฒนาปรับปรุงตัวอาคารให้สวยงามทันสมัยแล้ว ธนาคารยังจะร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการจัดกิจกรรมเสริมทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย อาทิ การสอนทักษะภาษาอังกฤษ การให้ความรู้เรื่องการออมเงิน การจัดกิจกรรม D.I.Y. หรือการนำวัสดุสิ่งของเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึก เป็นต้น” นายเคลวิน กล่าวเพิ่มเติม
การพัฒนา “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ใจกลางสวนสาธารณะจึงเป็นเสมือนเป็นการนำความรู้และจินตนาการกลับเข้าไปในพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้กลับมาใช้การจินตนาการผสานกับการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติสีเขียวซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ“แมลงเต่าทอง” ในฐานะผู้ช่วยกำจัดเหล่าศัตรูพืช อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความสมดุลแห่งธรรมชาติ
“ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” จึงเปรียบเสมือนตัวเชื่อมโยงประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้เข้ากับ “สวนลุมพินี” สวนสีเขียวใจกลางเมืองที่แสดงออกถึงความสมดุลควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน