Special Story » เปิดผลโพลรับปี 2020 ธุรกิจใดใจป้ำ ! “ซื้อใจ” พนักงาน

เปิดผลโพลรับปี 2020 ธุรกิจใดใจป้ำ ! “ซื้อใจ” พนักงาน

16 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : “เอ็กซ์พีริส” (Experis) ในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดผลสำรวจการจ่ายโบนัสประจำปี 2019 และการขึ้นเงินเดือนปี 2020 ระบุองค์กรเล็ก-ใหญ่ รับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจแบบ “รัดเข็มขัด” ด้วยความระมัดระวัง พร้อมทั้งยังคงรักษากำลังคน โดยปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราเฉลี่ย 3-5% เป็นมาตรฐาน พร้อมจ่ายโบนัส 1-2 เดือนเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คนทำงาน  

“เอ็กซ์พีริส” (Experis) บริษัทในเครือแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ผู้นำด้านแรงงานเชิงนวัตกรรมและผู้เชี่ยวชาญในการสรรหาแรงงานในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและระดับผู้บริหาร เปิดเผยถึงผลสำรวจจ่ายโบนัสประจำปี 2019 และการขึ้นเงินเดือน ปี 2020 โดยทำการสำรวจจากกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งมีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป คิดเป็นสัดส่วน 11% องค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานตั้งแต่ 50-250 คน มีสัดส่วนมากที่สุด 64% และองค์กรขนาดเล็กซึ่งมีพนักงานต่ำกว่า 50 คน คิดเป็นสัดส่วน 25% โดยทำการสำรวจทั้งหมด 1 พันรายจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ (Service Providers) ในสัดส่วน 43% ธุรกิจการจัดจำหน่าย (Trader & Distributors) ในสัดส่วน 30% และธุรกิจด้านการผลิต (Manufacturers) ในสัดส่วน 27%

 

จากผลสำรวจระบุว่า แนวโน้มการปรับขึ้นเงินเดือนขององค์กรธุรกิจมีปัจจัยสนับสนุนโดยวัดจากประสิทธิภาพการทำงานของแต่ละบุคคล ผนวกกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ จึงทำให้อัตราเฉลี่ยการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% มากที่สุดในทุกกลุ่ม นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า กลุ่มองค์กรขนาดใหญ่มีอัตราส่วนในการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% คิดเป็นสัดส่วน 45% จากทั้งหมด รองลงมาเป็นกลุ่มที่ปรับเงินเดือนขึ้น 5-7% คิดเป็นสัดส่วน 33% ซึ่งมีปัจจัยมาจากความต้องการสร้างความมั่นคงและดูแลรักษากำลังคนขององค์กร 

ส่วนองค์กรขนาดกลางมีแนวโน้มจากผลสำรวจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ที่น่าจับตามองเป็นกลุ่มองค์กรขนาดเล็กซึ่งอัตราส่วนการปรับขึ้นเงินเดือน 10% ขึ้นไป สูงถึง 6% มากกว่าองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง โดยระบุว่าองค์กรกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น “สตาร์ทอัปใหม่” ซึ่งอาจจะต้องสร้างแรงจูงใจและดึงดูดพนักงาน พร้อมทั้งการรักษากำลังแรงงานให้ทำงานกับองค์กรด้วยการปรับขึ้นเงินเดือนในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาด โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับด้านไอทีโซลูชั่นต่าง ๆ และที่ปรึกษาด้านไอที ทั้งนี้ กลุ่มองค์กรขนาดเล็กซึ่งมีอัตราส่วนในการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% นั้นมีมากเกินกว่าครึ่ง

ผลสำรวจยังระบุอีกว่า กลุ่มธุรกิจให้บริการ มีอัตราส่วนการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% มีสัดส่วน 47% และอัตราส่วนปรับขึ้นเงินเดือนมากกว่า 5-7% มีสัดส่วน 34% ส่วนธุรกิจด้านการผลิตมีการปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% คิดเป็น 50% ของกลุ่มธุรกิจนี้ แต่ที่ปรับเพิ่มมากกว่า 10% ขึ้นไปมีสัดส่วน 2% เท่านั้น ทางด้านธุรกิจการจัดจำหน่าย การปรับขึ้นเงินเดือน 3-5% มีสัดส่วนถึง 52% และปรับขึ้นเงินเดือน 5-7% มีสัดส่วน 34%

สำหรับผลสำรวจเรื่องการจ่ายโบนัสประจำปีระบุว่า มีแนวโน้มการจ่ายเฉลี่ย 1-2 เดือน มีสัดส่วนมากที่สุดทุกกลุ่มองค์กร โดยการจ่ายโบนัส 1 เดือนมีอัตราสูงสุด 42% รองลงมา 2 เดือน 34% และ 3-5 เดือน 13% ตามลำดับ สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการจ่ายโบนัสสูงถึง 5 เดือนขึ้นไปเป็นกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงกลุ่มธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต 

เมื่อทำการสำรวจแบบเจาะไปที่กลุ่มธุรกิจ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจให้บริการ แนวโน้มการจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1เดือนและ 2 เดือนมีสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ 41% กับ 40% ส่วนธุรกิจด้านการผลิตมีการจ่ายโบนัส 1 เดือน คิดเป็นสัดส่วน 30% จ่ายโบนัส 2 เดือน สัดส่วน 39% และมีการจ่ายโบนัส 3-5 เดือนคิดเป็นสัดส่วน 19% ของกลุ่มธุรกิจนี้ ทางด้านธุรกิจการจัดจำหน่ายอัตราส่วนการจ่ายโบนัส 1 เดือน มีสัดส่วน 46% และจ่ายโบนัส 2 เดือน มีสัดส่วน 37% ทั้งนี้ ปัจจัยสนับสนุนการจ่ายโบนัสประจำปีขององค์กรต่าง ๆ จะอิงตามผลประกอบการรวมขององค์กรเป็นหลัก

อาจกล่าวได้ว่า ผลการสำรวจการปรับเงินเดือนปี 2020 และจ่ายโบนัสประจำปี 2019 มีแนวโน้มและสัดส่วนไม่แตกต่างจาก 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยและผลพวงมาจากความผันผวนทางเศรษฐกิจโดยรวม ส่งผลให้หลายองค์กรมีการปรับตัวและพยุงตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศและเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า “กลุ่มแรงงาน” ยังคงให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงและศักยภาพขององค์กรตลอดมา “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” จึงเชื่อมั่นว่า การพัฒนาศักยภาพและทักษะความสามารถของตนเองอยู่เสมอตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะรอบด้านและทักษะด้านเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงในตลาดงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้ง ยังต้องมีการปรับตัวยืดหยุ่นกับทุกสถานการณ์ท่ามกลางโลกแห่งยุคทรานส์ฟอร์เมชั่นอีกด้วย

 หากผู้ประกอบการและแรงงานปรับตัวได้ทันก็จะพัฒนาสู่ความสำเร็จไปพร้อมกับการก้าวสู่ “ประเทศไทย 4.0”