Special Story » ตลาดเครื่องสำอางไทย 1.3 แสนล้านบาท ชูจุดแข็ง “Made in Thailand Product”

ตลาดเครื่องสำอางไทย 1.3 แสนล้านบาท ชูจุดแข็ง “Made in Thailand Product”

29 มกราคม 2020
0

alivesonline.com : บริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ต จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่กำลังเติบโต ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย แถลงข่าวการจัด งาน Cosmoprof CBE ASEAN 2020” (คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563) งานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลกที่จะมาสร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย พร้อมสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการด้านความงามไทยฝ่าวิกฤติเปิดทางออกปัญหาเศรษฐกิจโลก ผ่าน งานเสวนา “ฝ่าวิกฤติ กับโอกาสการลงทุนเครื่องสำอางไทยในตลาดโลก ปี 2563” จากผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดความงามและเครื่องสำอางชั้นนำ ณ ห้อง Attitude ชั้น 25 โรงแรมเดอะเวสทิน แกรนด์ สุขุมวิท เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ “อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย”

  • Cosmoprof CBE ASEAN 2020 หนุนแบรนด์โชว์ศักยภาพ

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการ “อินฟอร์มา มาร์เก็ต ประเทศไทย” ผู้เชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าสำหรับธุรกิจ อุตสาหกรรม และนวัตกรรมที่กำลังเติบโต โดยมีการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจระดับนานาชาติในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและเวชภัณฑ์กว่า 550 งานกล่าวถึงภาพรวมของตลาดเครื่องสำอางไทยว่า ตลาดเครื่องสำอางถือเป็นตลาดที่มีกำลังการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี สะท้อนความน่าเชื่อถือของเครื่องสำอางไทยในตลาดโลกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งศักยภาพของประเทศไทยยังเอื้อต่อการเติบโตของตลาดเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านมาตรฐานภาคการผลิตในระดับสูง คุณค่าของวัตถุดิบที่สามารถต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมไปถึงความเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนและมาตรฐานของระบบลอจิสติกส์ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญให้อุตสาหกรรมความงามไทยมีความพร้อมและเป็นที่เชื่อมั่นของนักลงทุน

ด้วยจุดแข็งของตลาดเครื่องสำอางไทยที่มีผลช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมในประเทศมีการขับเคลื่อนและนำเม็ดเงินจากต่างชาติให้เข้ามาในประเทศมากขึ้น ทั้งยังเป็นตลาดที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตแข่งขันกับผู้เล่นเก่าและผู้เล่นต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่สินค้า Made in Thailand Products มีความต้องการซื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งในจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และออสเตรเลีย บริษัทฯ จึงจัดงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน “Cosmoprof CBE ASEAN 2020” (คอสโมพรอฟ ซีบีอี อาเซียน แบงค็อก 2563) ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2563 ณ ศูนย์การแสดงสินค้า และการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“Cosmoprof CBE ASEAN 2020” เป็นงานจัดแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามระดับโลก บนพื้นที่กว่า 2.5 หมื่นตารางเมตร เพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ของอุตสาหกรรมความงามในภูมิภาคอาเซียนที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการความงามได้นำเสนอสินค้าและนวัตกรรมความงาม พร้อมจัดกิจกรรมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายธุรกิจ เช่น โปรแกรมจับคู่เจรจาธุรกิจ Business Matching โปรแกรมทางธุรกิจที่ออกแบบให้ผู้ออกงานได้พบกับคู่ค้าทางธุรกิจ หรือผู้ซื้อที่ตรงความต้องการได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น, โปรแกรม Hosted Buyer ไฮไลต์สำคัญของงานที่รวมตัวผู้ซื้อคุณภาพจากทั่วโลกให้มาพบกับผู้ประกอบการไทยภายในงานแบบสุดพิเศษ, กิจกรรม Cosmoprof CosmoTalks นำเสนอข้อมูลเชิงลึกรูปแบบใหม่ด้านแนวโน้มและลักษณะในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเวทีสัมมนาให้ความรู้ด้านการตลาดความงามแก่ผู้ประกอบการไทย ตลอดจนการแสดงสาธิตโดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ

“จากการคาดการณ์ด้านเศรษฐกิจของนักลงทุนและนักเศรษฐศาสตร์ พบว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงในระดับโลกอาจยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ แต่ตลาดเครื่องสำอางและความงามไทยยังคงเป็นตลาดที่มีความแข็งแรงอยู่ ทั้งยังมีแนวโน้มที่สามารถเติบโตสวนทางกับกระแสเศรษฐกิจโลก และเพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ประกอบการไทยและตลาดความงามไทย บริษัทฯ จึงใช้ประสบการณ์การจัดงาน Cosmoprof ทั่วโลกที่ผ่านมาและความเข้าใจในข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความต้องการของธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงาม ผลักดันให้การจัดงานครั้งนี้ได้เติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการไทยไปอีกขั้น เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนเครื่องสำอางไทยในตลาดโลก พร้อมพาตลาดความงามฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ไปด้วยกัน” นายสรรชาย กล่าวในท้าย

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม ประธานกลุ่มเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย

  • ชูจุดเด่น Made in Thailand Product แข่งตลาดโลก

นางเกศมณี เลิศกิจจา ประธานกลุ่มคลัสเตอร์สุขภาพและความงาม ประธานกลุ่มเครื่องสำอาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางไทย กล่าวถึงภาพรวมการแข่งขันในตลาดผู้ผลิตเครื่องสำอางว่า แม้ว่าตลาดเครื่องสำอางจะมีมูลค่าการเติบโตสูงขึ้นทุกปี แต่ในด้านของการแข่งขันก็มีไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเฉพาะในปี 2562 มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเกิดใหม่เพิ่มมากขึ้น ทั้งยังมีรูปแบบนำเสนอสินค้าที่หลากหลายกว่าเดิม อาทิ เทรนด์ผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างพกพาสะดวก ราคาต่อหน่วยที่ถูกลง โดยเฉพาะช่องทางการขายที่เข้าถึงได้ง่าย ทั้งจากช่องทางเดิม ๆ ในโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ ร้านสุขภาพและความงาม ร้านค้าปลีกทั่วไป และช่องทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งมีต้นทุนต่ำ ใช้งบประมาณน้อย แต่เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย รวมถึงการทำตลาดของกลุ่มสตาร์ทอัป ดารานักแสดง และเน็ตไอดอล ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การจงรักภักดีในตราสินค้าของผู้บริโภค หรือ Brand Royalty ลดน้อยลงและนำมาซึ่งการตัดสินใจใช้สินค้าใหม่ ๆ แบรนด์ใหม่ ๆ ง่ายขึ้น

จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคดังกล่าว ประกอบกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลให้ตลาดเครื่องสำอางมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มระดับกลางและระดับล่าง ทั้งในกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ กลุ่มผู้ขายสินค้านำเข้า หรือแม้แต่กลุ่ม Global Brand ก็เริ่มพัฒนาสินค้าในคอลเลกชั่นที่ถูกล เพื่อเข้าหาลูกค้ากลุ่มทั่วไปมากขึ้น รวมถึงการออกผลิตภัณฑ์ Fighting Brand ใหม่ ๆ ในราคาที่จับต้องได้ในตลาดระดับรองลงมาและรักษาส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มสินค้านั้น ๆ

“ในปี 2563 สัดส่วนของผู้บริโภคจะมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากอายุของผู้บริโภคกลุ่มที่เริ่มใช้เครื่องสำอางมีค่าเฉลี่ยลดลง ทั้งยังมีโอกาสจากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่เชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทยและมองหาคู่ค้าไทยในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในเวที Cosmoprof CBE ASEAN 2020 ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการชาวไทยสามารถส่งสินค้าในมือไปสู่ตลาดโลก เพื่อต่อสู้กับการแข่งขันที่ขยายตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นางเกศมณี กล่าวในตอนท้ายว่า เศรษฐกิจประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการส่งออกในระยะหลังค่อนข้างเติบโตช้า เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า และสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่นับเป็นเรื่องดีที่ตลาดเครื่องสำอางไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นสินค้าเครื่องสำอาง Made in Thailand Product ดังจะเห็นได้เห็นจากมูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางไทยในปี 2562 มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท เติบโตกว่า 6% แต่การจะผลักดันให้มูลค่าตลาดเติบโตขึ้นต้องพึ่งพาความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการและภาครัฐ ในการผลักดันผลิตภัณฑ์ Made in Thailand Product ให้ชัดเจนและน่าเชื่อถือมากขึ้น รวมถึงต้องร่วมกันผลักดันงานแสดงสินค้าให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น เพื่อที่จะส่งให้สินค้าความงามไทยไปอยู่ในสายตาโลกได้มากที่สุด

นายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน)

  • เผยสูตรสำเร็จ “พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงความต้องการ”

ในส่วนของภาคผู้ประกอบการ นายพงศ์วิวัฒน์ ทีฆคีรีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาดและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริษัท คาร์มาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการสร้างความสำเร็จในตลาดความงามโลกว่า ตลาดเครื่องสำอางเป็นตลาดที่มีความใหญ่เป็นอันดับต้นทั้งในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นสิ่งที่สามารถนำพาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จได้คือ การจับจุดเด่นตัวเองให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด กล่าวคือตัวสินค้าต้องมีนวัตกรรมและคงคอนเซ็ปต์ที่ชัดเจน รวมถึงต้องตามเทรนด์ใหม่ ๆ จับกระแสของโลกอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ แบรนด์ที่ดียังควรมีสินค้าหลายขนาด หลายรูปแบบ ไม่จำเจ เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลายในราคาที่เอื้อมถึง ที่สำคัญควรรู้จักประเทศคู่ค้าให้ดี อาทิ ทำความเข้าใจด้านกฎหมายการค้า กระบวนการภาษี การขนส่ง ราคาที่เหมาะสม และมีการส่งเสริมการตลาดที่ดี อย่างด้านโปรโมชัน หรือสินค้าเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะประเทศนั้น ๆ เป็นต้น

นางรุ่งระวี กิตติสินชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด

  • แนะผู้ประกอบการพัฒนานวัตกรรมใหม่

อีกหนึ่งผู้ประกอบการคือ นางรุ่งระวี กิตติสินชัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมลอทท์ แลบบอราทอรีส์ จำกัด กล่าวถึงกลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์ในตลาดความงามโลกว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการผลิตและมีซัปพลายเชนที่ครบวงจร ทั้งยังมีแรงงานที่มีทักษะ รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ผู้ประกอบการใหม่จึงควรศึกษาถึงการใช้ทรัพยากรที่มีเพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการ กำหนดสูตรต่าง ๆ (Formulate) ให้ทันสมัยและเป็นไปตามความต้องการของลูกค้า พร้อมคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วย ตลอดจนควรเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคด้วยการสร้างสรรค์สินค้าให้มีคุณภาพและปลอดภัยในระดับผ่านการประเมินจากองค์กรที่มีการรับรองในระดับสากลทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการเสริมศักยภาพของตัวองค์กร อาทิ เป็นสินค้าที่มีสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบไปยังต่างประเทศ หรือการบริหารการจัดการให้มีคุณภาพ ตั้งแต่ด้านการผลิต การจัดเก็บ จนถึงการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้า