“มาม่า” สนับสนุนคอนเสิร์ตใหญ่แห่งปี “BODYSLAM FEST”

 

‘ศุภรัสมิ์ จิวะรังสินี’ (กลาง) ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ “มาม่า” บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) รับมอบช่อดอกไม้แสดงความขอบคุณจาก ‘อาทิวราห์ คงมาลัย’ (ตูน บอดี้สแลม) ในโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ “มาม่า” ได้ให้การสนับสนุนการจัดคอนเสิร์ต “BODYSLAM FEST วิชาตัวเบา LIVE IN ราชมังคลากีฬาสถาน” คอนเสิร์ตใหญ่ที่รวบรวมทุกความเชื่อ ความฝัน ทุกการเดินทาง ทุกแรงบันดาลใจของ “บอดี้สแลม” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 9–10 กุมภาพันธ์ 2562 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน

“VT แหนมเนือง COMMUNITY” พัฒนาการเหนือฝันของร้านอาหารเวียดนามชื่อดังแห่งอุดรฯ

alivesonline.com : กว่า 40 ปีที่สะสมชื่อเสียงด้านความโดดเด่นของรสชาติอาหารเวียดนามจากร้านค้าห้องแถวเล็ก ๆ ใจกลางเมืองอุดรธานี จนทำให้ชื่อชั้นของ “VT แหนมเนือง” โด่งดังไม่เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปทั่วประเทศ จนแขกผู้มาเยือนจำต้องมาลองลิ้มชิมรส ทั้งยังต้องอุดหนุนกลับไปเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดอีกด้วย

มาวันนี้ “VT แหนมเนือง” กำลังสร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญอีกคำรบหนึ่ง เมื่อทอง กุลธัญวัฒน์’ ประธานกรรมการ บริษัท วีทีแหนมเนือง จำกัด เลือกพื้นที่ 19 ไร่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 4-5 ถ.มิตรภาพ อุดรธานี-ขอนแก่น ต.บ้านจั่น อ.เมือง จ.อุดรธานี พัฒนาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ที่รวบรวมทั้งภัตตาคารอาหารเวียดนาม แหล่งสินค้าของดีเมืองอุดรฯ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงโรงงานผลิตแหนมเนืองเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ชื่อ VT แหนมเนือง COMMUNITY” โดยใช้เงินลงทุนกว่า 650 ล้านบาท พร้อมปักหมุดสำคัญในการมุ่งเป้าสู่การเป็น “แลนด์มาร์คแห่งภาคอีสาน”

  • ไขปม…ทำไมจึงเป็น VT แหนมเนือง

แม้ทุกวันนี้แบรนด์ร้านอาหารเวียดนามแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกอันดับต้น ๆ ที่เหล่านักชิมต่างให้ความสนใจ แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ต่างไม่เคยรู้มาก่อนว่า เพราะเหตุใดจึงต้องเป็น “VT แหนมเนือง”

ปริศนานี้ถูกเฉลยจาก ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ ว่า มาจากชื่อคุณพ่อคุณแม่ของเขาเอง

‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ ประธานกรรมการ บริษัท วีทีแหนมเนือง จำกัด

“ผมเกิดที่จังหวัดหนองคาย เป็นบุตรคนที่ 5 จากทั้งหมด 8 คนของ คุณพ่อตวน แซ่โฮ กับ คุณแม่วี แซ่เรือง ซึ่งเป็นชาวเวียดนามผู้อพยพหนีภัยสงครามจากบ้านเกิดเข้ามาพำนักอาศัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยช่วงแรกคุณพ่อประกอบอาชีพเป็นช่างทองในร้านทองแห่งหนึ่งของจังหวัดหนองคาย ส่วนคุณแม่เป็นแม่ค้าหาบเร่ โดยต้องหาอาชีพเสริมอื่นเพื่อมาจุนเจือครอบครัวที่มีลูกถึง 8 คน และนั่นคือกำเนิดของแหนมเนืองที่ต่อมาคนไทยคุ้นเคยกัน

ในช่วงแรก ‘คุณแม่วี’ ได้ใช้ฝีมือปรุงอาหารที่ได้รับการฝึกฝนจากคุณยาย ทำอาหารเวียดนามหาบขายในละแวกบ้าน โดยในขนะนั้นมี “บั่นแบ๋ว” หรือขนมถ้วยแบบเวียดนาม และ “แนมเหนือง” หรือเมี่ยงหมูย่าง ทั้งครอบครัวต้องใช้เวลากว่า 10 ปี ในการเปลี่ยนจากร้านหาบเร่เป็นร้านห้องแถวหนึ่งคูหาเมื่อปี 2511 ในชื่อ “แหนมเนือง” ซึ่งเพี้ยนมาจาก “แนมเหนือง” ในภาษาเวียดนามนั่นเอง

“เมื่อผมอายุ 14 ปี ได้แยกตัวไปทำงานเป็นช่างกลึง แต่ก็ทำได้ไม่นานเพราะต่อมารัฐบาลได้ประกาศให้เป็นอาชีพสงวนสำหรับคนไทยเท่านั้น ทำให้ต้องเปลี่ยนอาชีพไปเป็นช่างนาฬิกาช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะแต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นลูกเจ้าของร้านตัดเสื้อสูท จึงเห็นโอกาสดีในงานเสื้อผ้า แต่ชีวิตก็ต้องเข้าสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งเมื่อสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรกเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ ทำให้จังหวัดหนองคายกลายเป็นทางผ่านที่คึกคัก คนกรุงเริ่มสั่งอาหารแบบห่อกลับบ้านมากขึ้น ต่อมาในปี 2538 รัฐบาลไทยได้มอบสัญชาติไทยให้ผม เลยทำให้ครอบครัวมีโอกาสสร้างธุรกิจของตัวเอง”

ในช่วงแรกร้านแหนมเนืองของครอบครัวใช้ชื่อว่า “แดง แหนมเนือง” ตามชื่อของพี่สาวเป็นคนบริหาร โดยมีพี่น้องต่างแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ ส่วนตัวผมมีหน้าที่ทำการตลาดและขายสินค้าที่อุดรฯ โดยใช้หนองคายเป็นฐานหลักในการผลิตแหนมเนือง จนเมื่อปี 2540 ปี ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ จึงออกมาสร้างแบรนด์ใหม่ภายใต้ชื่อ “VT แหนมเนือง” เป็นเอกเทศแยกออกจาก “แดง แหนมเนือง” โดยในส่วนของ “แดง แหนมเนือง” ยังคงอัตลักษณ์ว่า “หากจะกินแหนมเนืองจะต้องมากินเฉพาะที่หนองคาย” แต่ในความคิดของ ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ กลับมองว่า “อาหารต้องวิ่งไปหาลูกค้า หากจะรออย่างเดียวมันช้าเกินไป”

สาเหตุที่ ‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ แยกตัวออกมาจาก “แดง แหนมเนือง” ซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว เป็นเพราะตัวเขามองเห็นโอกาสทางการตลาดด้วยปัจจัยบวกสำคัญคือ อุดรธานีเป็นจังหวัดใหญ่กว่าจังหวัดหนองคาย ทั้งยังมีโรงแรม มีกรุ๊ปทัวร์และกรุ๊ปสัมมนาเดินทางเข้ามาในจังหวัดเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประชาชนก็มีการใช้จ่ายสูงกว่า ประการสำคัญคือ อุดรธานียังไม่มีร้านอาหารเวียดนามในลักษณะนี้ !

  • อาหารสูตรดั้งเดิม แต่คิดใหม่ทำใหม่ในเชิงกลยุทธ์

“VT แหนมเนือง” ถือเป็นร้านอาหารเวียดนามแห่งแรกในอุดรธานีซึ่งแม้จะแยกตัวมาจาก “แดง แหนมเนือง” แต่สินค้าของ “VT แหนมเนือง” ยังคงใช้สูตรและโรงงานผลิตเดียวกับ “แดง แหนมเนือง” โดยมีจุดต่างสำคัญคือกลยุทธ์ในการบริหารงานด้วยบริการที่รวดเร็ว ลูกค้าไม่ต้องรอนานแม้กระทั่งระบบเงินทอนซึ่งพัฒนาระบบที่พัฒนาขึ้นทำให้สามารถคิดและทอนเงินลูกค้าได้เสร็จภายใน 1 นาที ขณะเดียวกันยังได้นำระบบการขายแบบเดลิเวอรี (Delivery) มาใช้ โดยแรกเริ่มให้พนักงานร้านจัดส่งสินค้าในรัศมี 5 กิโลเมตร แต่เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องเส้นทางและมักเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง จึงได้ปรับเปลี่ยนมาใช้รถจักรยานยนต์รับจ้างเป็นผู้ส่งสินค้าแทน เพราะชำนาญในเส้นทางและรวดเร็วกว่า

“จุดขายของ VT แหนมเนือง เกิดขึ้นหลังจากที่ผมแยกตัวออกมาจากธุรกิจครอบครัว โดยเน้นการบริการที่รวดเร็ว มุ่งตอบสนองความต้องการของตลาดผู้บริโภคอาหารเวียดนามทั่วประเทศ ซึ่งถึงแม้จะเป็นสินค้าอาหารสด เช่น แหนมเนือง เปาะเปี๊ยะ หมูย่างเวียดนาม หมูทอดทรงเครื่อง กุ้งพันอ้อย แต่สามารถพัฒนาจนสามารถจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าได้ทั่วประเทศ จึงอาจกล่าวได้ว่าเคล็ดลับที่ทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักแพร่หลาย คือการนำระบบการจัดส่งสินค้าแบบเดลิเวอรีมาใช้เป็นกุญแจสำคัญ”

“ร้าน VT เริ่มขึ้นเมื่อปี 2540 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับที่ประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก ช่วงนั้นผมกู้ธนาคารมาลงทุนเปิดร้าน 2 ล้านบาท ถูกดอกเบี้ย 18.5% เศรษฐกิจตอนนั้นเหมือนคลื่นน้ำแรง เราก็ต้องค่อย ๆ เกาะริมฝั่งไปเพื่อรอเวลาน้ำนิ่ง เพราะด้วยความเชื่อมั่นในธุรกิจอาหารที่คนต้องกินทุกวัน ทำให้ค่อย ๆ ปลดหนี้ได้สำเร็จ จนกระทั่งปี 2545 จึงได้เริ่มเดินเครื่องธุรกิจอย่างเต็มกำลัง ทำให้ปัจจุบันมียอดขายวันละ 1-2 ล้านบาท พร้อมด้วยสาขาทั่วประเทศมากกว่า 60 สาขา ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาระบบงานบริการให้สอดรับกับชีวิตคนยุคใหม่ ทั้งเดลิเวอรีและไดร์ฟ-ทรู รวมทั้งใช้เงินทุน 650 ล้านบาท พัฒนาโครงการ VT Community Mall ในจังหวัดอุดรธานี เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าแหนมเนือง รวมทั้งเป็นแหล่งรวมสินค้าโอทอปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

 

  • VT แหนมเนือง COMMUNITY ภาพในฝันที่เป็นจริง

‘ทอง กุลธัญวัฒน์’ เปิดใจถึงการตัดสินใจใช้งบประมาณ 650 ล้านบาทลงทุนในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าที่ตั้งร้าน “VT แหนมเนือง” ในปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่ของธรณีสงฆ์คือ วัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง ด้วยการเช่าพื้นที่ระยะยาวและสามารถต่อสัญญาได้ โดยเริ่มจาก 1 คูหาและขยับขยายมาเรื่อย ๆ จนเป็น 10 คูหา รวมพื้นที่มากกว่า 4 ไร่ แต่ยังไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าได้อย่างเต็มที่โดยเฉพาะในเรื่องที่จอดรถ ขณะเดียวกันยังมั่นใจว่าธุรกิจอาหารเวียดนามจะสามารถเจริญเติบโตได้อีกมาก การพัฒนาโครงการ “VT แหนมเนือง COMMUNITY” จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะมีเป้าหมายสำคัญคือการพัฒนาธุรกิจให้มีลักษณะเป็นจุดบริการแบบ One Stop Services โดยจะเป็นสถานที่รวบรวมสินค้าทุกชนิด ทั้งจากร้าน “VT แหนมเนือง” รวมถึงสินค้าพื้นบ้านและสินค้าโอทอปจากชาวบ้าน ชุมชน และหน่วยงานราชการ เพื่อให้ลูกค้าและนักท่องเที่ยวสามารถเดินหาซื้อสินค้าของที่ระลึกจากเมืองอุดรธานีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้อย่างครบถ้วนในสถานที่เดียวเท่านั้น

 

ในวันนี้ที่โครงการ “VT แหนมเนือง COMMUNITY” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ จึงเพียบพร้อมไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ รวมถึงบริการไดรฟ์-ทรู (Drive Thru) ให้ลูกค้าซื้อสินค้าอาหารเวียดนามกลับบ้านได้อย่างรวดเร็ว พร้อมด้วยที่จอดรถมากกว่า 300 คัน โดยมีการจัดพื้นที่เป็น 6 ส่วนหลัก ดังนี้

1.โชนภัตตาคารอาหารเวียดนาม ขนาด 2 ชั้น พร้อมห้อง V.I.P. 6 ห้อง เพื่อรองรับลูกค้าทุกกลุ่ม ตั้งแต่ครอบครัว นักท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ร่วมสัมมนางานประชุมต่าง ๆ สามารถรองรับลูกค้าได้ทั้งหมด 1.5 พันที่นั่ง

 


2.โซนของฝากสินค้าที่ระลึกท้องถิ่น มีสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอปชนิดต่าง ๆ รวมถึงสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม ให้ลูกค้าเลือกจับจ่ายอย่างครบถ้วนมากกว่า 1.5 พันรายการ

3.เว้ คอนเวนชั่นฮอลล์ ห้องประชุมสำหรับการจัดงานทุกรูปแบบพร้อมด้วยชุดเครื่องเสียงคุณภาพระดับไฮเอนด์และจอ LED รองรับผู้ร่วมงานได้มากกว่า 1 พันคน

4.ตลาดวีทีพาม่วน เป็นตลาดวิถีชุมชนศูนย์รวมสินค้าท้องถิ่นแห่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เปิดให้ชาวบ้านและหน่วยงานราชการใช้พื้นที่ในการจำหน่ายสินค้าฟรีในอีเวนต์ต่าง ๆ ที่โครงการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ


5.โรงงานผลิตและกระจายสินค้า
นอกจากจะเป็นฐานการผลิตหลักของสินค้าแหนมเนืองด้วยเครื่องจักรคุณภาพมาตรฐานแล้ว ยังเปิดโอกาสให้คณะนักท่องเที่ยว นักเรียนนักศึกษา และคณะต่าง ๆ เข้าศึกษาเยี่ยมชมได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

6.ฟาร์มวีทีอินทรีย์ เป็นพื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์โดยการหมุนเวียนนำเศษผักเศษอาหารจากภัตตาคารและการผลิตมาเข้ากระบวนการผลิตปุ๋ยและต่อยอดไปสู่การปลูกผักอินทรีย์ พร้อมทั้งเปิดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย

  • เปิดแผนกระจายสินค้าอาหารเวียดนามบุกต่างประเทศ

“ผมเริ่มก่อสร้างโครงการเมื่อประมาณปี 2559 จนแล้วเสร็จและเปิดโครงการอย่างไม่เป็นทางการประมาณปี 2560 โดยเป็นผู้บริหารโครงการเองทั้งหมดจึงคาดว่ากว่าจะถึงจุดคุ้มทุนคงตองใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีลูกค้าผู้ใช้บริการในวันจันทร์-พฤหัสบดีประมาณ 1 พันคน ส่วนวันศุกร์-อาทิตย์มีประมาณ 2-3 พันคน มีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 180 บาทขึ้นไป โดยลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นคนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงและนักท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งแต่ละวันจะมีรถทัวร์นำคณะนักท่องเที่ยวละประมาณ 5-8 คัน ขณะที่ลูกค้าต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและจีน”

“ผมยอมรับว่าการลงทุนครั้งนี้อาจเป็นการตัดสินใจที่ผิดจังหวะเพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ดีนัก แต่ยังมั่นใจว่าโครงการจะประสบความสำเร็จ เพราะผมยังเตรียมแผนยุบรวมร้าน VT แหนมเนือง หน้าวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง มาอยู่ภายในโครงการภายในสิ้นปี 2562 เพื่อเป็นการรวมลูกค้ามาไว้แห่งเดียวกัน ทั้งยังมีแผนขยายพื้นที่การจำหน่ายอาหารเวียดนามไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ และขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนคือ สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ หรือแม้แต่เวียดนามเองก็ตาม นอกจากนั้นยังจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับนักธุรกิจสิงคโปร์เพื่อใช้สิงคโปร์เป็นฐานกระจายสินค้าอาหารเวียดนามไปยังสิงคโปร์ ฮ่องกง และจีนตอนใต้ โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินงานได้ภายในปี 2562”

นับเป็นพัฒนาการที่เหนือฝันสำหรับร้านอาหารเวียดนามเล็ก ๆ เมื่อ 40 ปีก่อนที่ไม่เคยหยุดนิ่ง หากแต่พร้อมจะเติบโตอย่างน่าติดตาม.


 

 

 

1% ของยอดขายเฉียด 1.8 หมื่นล้านบาทของ “ซีพีแรม” งบฯ นี้เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร !


alivesonline.com : ไม่เพียงได้ชื่อว่าเป็นผู้นำอาหารพร้อมรับประทาน หรือ
Ready To Eat (RTE) เท่านั้น แต่ยังได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้นำนวัตกรรมด้านอาหารอีกด้วยสำหรับ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ผู้ผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น และเบเกอรีอบสดในกลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) โดยเน้นช่องทางจำหน่ายผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นหลักประมาณ 80-90% ขณะที่มีการส่งออกประมาณ 10-20% ไปยังประเทศญี่ปุ่น เมียนมา สิงคโปร์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา แคนาดา กลุ่มประเทศยุโรป และอื่น ๆ

‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด

จวบจนวันนี้ “ซีพีแรม” ก้าวย่างบนเส้นทางสายอุตสาหกรรมอาหารมาแล้วถึง 30 ปี โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์องค์กรทุก ๆ 5 ปี เช่นเดียวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของประเทศไทย นั่นหมายความว่านับตั้งแต่ปี 2561-2565 ถือเป็นยุคที่ 7 ของ “ซีพีแรม” ซึ่ง ‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ได้ประกาศทิศทางองค์กรว่าเป็น “ยุคศรีอัจฉริยะ” เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจ Food Provider มาตรฐานโลกในการมอบคุณค่าสู่สังคมและมุ่งสู่องค์กรที่ยังยืน โดยใช้คำว่า “ศรี” คือความดีงาม และคำว่า “อัจฉริยะ” คือความเก่งเฉลียวฉลาด “ศรีอัจฉริยะ” จึงมีพร้อมด้วย “ความดีคู่ความเก่ง” ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ (Supply Chain Management) โดยเน้น แนวทาง 3S คือ FOOD SAFETY (ความปลอดภัยของอาหาร) FOOD SECURITY (ความมั่นคงของอาหาร) และ FOOD SUSTAINABILITY (ความยั่งยืนของอาหาร)

เป้าหมายของ “ซีพีแรม” ต่อจากนี้ไปอีก 5 ปีจึงเป็นเรื่องของการขยายการผลิตไปสู่ภูมิภาคมากขึ้น เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นปีละ 15% โดยใช้เงินลงทุน 4 พันล้านบาทในการก่อสร้างโรงงานใหม่เพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง แบ่งเป็นโรงงานใหม่ 2 แห่งในจังหวัดลำพูน และสุราษฎร์ธานี ส่วนอีก 3 แห่งตั้งอยู่ในที่ตั้งเดิมคือจังหวัดปทุมธานี ชลบุรี และขอนแก่น ทำให้มีกำลังการผลิตรวม เพิ่มขึ้น 50-70% ในขณะที่จะสามารถสร้างการเติบโตทางด้านยอดขายรวมไม่น้อยกว่าปีละ 15% จากปี 2561 ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น 65% และเบเกอรีอบสด 35%

  • ใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

แนวคิดในการก่อสร้างโรงงานใหม่ครั้งนี้ไม่เน้นสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่มากนัก เพราะต้องการสร้างวงจรเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้บริษัทฯ เข้าใกล้แหล่งวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงสามารถกระจายสินค้าจากโรงงานผลิตไปสู่ร้านค้าในเวลารวดเร็วเพียง 2-3 ชั่วโมงจากเดิมที่ต้องใช้เวลามากถึง 6-7 ชั่วโมง ตลอดจนเป็นการเพิ่มช่องทางกระจายสินค้าใหม่ ๆ ผ่านทางร้านอาหาร ภัตตาคาร คอนโดมิเนียม รวมถึงตู้หยอดเหรียญ (Vending Machine) ครัวเคลื่อนที่ (Food Van) ซีพีแรมแคทเทอริ่ง และอี-คอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น

 

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมโดยใช้งบประมาณ 1% ของรายได้ หรือประมาณ 100-150 ล้านบาทในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร 3 ระดับคือ Basic Research การวิจัยพื้นฐานเพื่อหาคุณสมบัติของสินค้า จากนั้นจึงเป็นระดับ Apply Research คือการนำงานวิจัยมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งบางครั้งอาจพัฒนาได้มากกว่า 100 รายการ สุดท้ายคือ Product Development คือการผลิตสินค้าออกจำหน่าย โดยงานวิจัยหนึ่งชิ้นสามารถผลิตเป็นเป็นสินค้าได้ถึง 10 รายการ โดยในปี 2561 มีรายการสินค้าที่รอจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วถึง 20 รายการ”


นั่นจึงทำให้แต่ละปี “ซีพีแรม” มีสินค้าอาหารใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ
23% โดยปัจจุบันมีสินค้าอาหารภายใต้แบรนด์ เจด ดราก้อน, เลอแปง, เดลี่ไทย และเดลิกาเซีย, ในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น รวมแล้วมากกว่า 900 รายการ!

‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ บอกด้วยว่า ยุคที่ 6 ของ “ซีพีแรม” ที่เพิ่งผ่านพ้นไปคือ “ยุคครบเครื่องด้วยนวัตกรรม” ซึ่งมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่นขึ้นมากมาย ขณะเดียวกันยังมุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศและเติบโตอย่างมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง เพราะอาหารเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการเห็นความแปลกใหม่ตลอดเวลา จึงทำให้บริษัทฯ ต้องมีการสลับรายการอาหารเก่า พร้อมนำเสนอรายการอาหารใหม่ตลอดเวลา โดยรายการอาหารหลัก 5 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้บริโภคคือ ข้าวผัดกะเพราหมู ข้าวผัดกะเพราไก้ ข้าวผัดปู ผัดซีอิ๊ว และข้าวไข่เจียวกุ้ง อีกทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาอาหารสุขภาพและอาหารสำหรับบุคคลเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ เด็ก ผู้สูงวัย และผู้ป่วยในแต่ละด้าน เช่น โรคเบาหวาน เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น “ซีพีแรม” ยังจะเริ่มดำเนินการผลิตอาหารพร้อมรับประทานแช่เย็น (Chilled Food) ในโรงงานแต่ละพื้นที่มากขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสในทางเลือกมากขึ้น จากเดิมที่ใช้ฐานการผลิตจากโรงงานปทุมธานีเพียงแห่งเดียว เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านอุณหภูมิแช่เย็นประมาณ 0-5 องศาเซลเซียส ทำให้มีกำหนดหมดอายุเพียง 3-5 วัน แต่ใช้เวลาอุ่นก่อนรับประทานเพียง 1.5 นาที จึงทำให้ต้องขนส่งภายในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร ขณะที่อาหารพร้อมรับประทานแช่แข็ง (Frozen Food) มีการผลิตภายในโรงงานทั่วประเทศ เพราะใช้อุณหภูมิในการแช่แข็ง -18 องศาเซลเซียส ทำให้มีกำหนดหมดอายุมากกว่า 1 ปี โดยต้องใช้เวลาอุ่นก่อนรับประทานประมาณ 5-6 นาที นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่พร้อมจะดำเนินการให้เห็นผลตั้งแต่ปี 2562 คือการผลิตอาหารประจำถิ่นในแต่ละภูมิภาคเพิ่มขึ้น 25-30% ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้

การก้าวเข้าสู่ยุคที่ 7 ของ “ซีพีแรม” ยังถือเป็นแนวทางการดำเนินงานตามนโยบาย CP 4.0 เพื่อใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ สอดคล้องกับนโยบาย THAILAND 4.0 ซึ่งถึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนและยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารของภูมิภาคเอเชีย โดยมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบการผลิตอัตโนมัติ (Robot) มาร่วมทำงานภายในโรงงาน ณ จุดที่บุคลากรต้องทำงานหนักและมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ พร้อมกันนั้นยังมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับทุกระบบงานด้วยการยกระดับการบริหารจัดการคุณภาพทั่วทั้งองค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น



  • ยกระดับโรงงานขอนแก่นผลิตสินค้าครบวงจร พร้อมผุดโครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต”

ในส่วนของโรงงานขอนแก่น “ซีพีแรม” ให้ความสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถด้านการผลิตเพื่อรองรับการเติบโตของตลาดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ครอบคลุมทุกจังหวัด โดยมีการผลิตครบวงจรทั้งอาหารพร้อมรับประทานแช่แข็งและแช่เย็น วันละ 2 แสนกล่อง รวมถึงเบเกอรีอบสด วันละ 5 แสนชิ้น ทั้งยังถือเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีความสวยงามและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมจะเปิดโรงงานบางส่วนให้ผู้สนใจเข้าชมเพื่อศึกษานวัตกรรมต่าง ๆ

ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น “ซีพีแรม” ยังได้เปิด โครงการ “เกษตรกรคู่ชีวิต” ณ แปลงเพาะปลูกเกษตรกรบ้านหนองทุ่ม ต.โนนแดง อ.โนนศิลา จ.ขอนแก่น ซึ่งมี ‘ผู้ใหญ่ประหยัด อุสาย’ เป็นผู้เข้าร่วมโครงการรายแรกในพื้นที่ โดยได้รับเกียรติจาก ‘อดิเรก ใหม่มงคล’ นายอำเภอโนนศิลา ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้และให้คำแนะนำในการเพาะปลูกกะเพรา การส่งเสริมการรับรองระบบมาตรฐาน GAP เพื่อให้เกษตรกร มีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำการเกษตรที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงบูรณาการองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรเองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด

‘อดิเรก ใหม่มงคล’ นายอำเภอโนนศิลา ประธานในพิธีเปิดโครงการ ‘เกษตรคู่ชีวิต’อย่างเป็นทางการ

‘ผู้ใหญ่ประหยัด อุสาย’ ผู้เข้าร่วมโครงการรายแรกในพื้นที่

‘วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู’ กล่าวถึงโครงการ “เกษตรคู่ชีวิต” ว่า “ซีพีแรม” จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นมาเพราะเห็นว่าสินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบที่บริษัทฯ จำเป็นต้องใช้ หากเกษตรกรสามารถผลิตได้ตรงตามความต้องการตลาดจะสามารถยกระดับราคาให้สูงขึ้นได้ จึงให้ความรู้ด้านวิชาการเกษตรและการตลาด รวมถึงสนับสนุนเมล็ดพันธุ์กว่า 30 สายพันธุ์ ตลอดจนอุปกรณ์บางชนิด เช่น ผ้าใบคลุมแปลง ซึ่งหากเกษตรกรสามารถผลิตได้ตามมาตรฐาน GAP ที่กำหนด บริษัทฯ พร้อมรับซื้อทั้งหมดโดยให้ราคาสูงกว่าตลาด เพื่อเป็นการสร้างระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นและประโยชน์ร่วมกัน เพราะช่วยให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบจากต่างถิ่น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ ใช้ใบกะเพราเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารกล่องทั่วประเทศถึงวันละ 1 ล้านตัน ในขณะที่โรงงานขอนแก่นมีความต้องการวันละ 50-60 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันเกษตรกรสามารถผลิตได้เพียงวันละ 20 กิโลกรัมจากพื้นที่ทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการ 40 ไร่



ในอนาคตอันใกล้ “ซีพีแรม” ยังพร้อมจะสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่อื่น ๆ เพาะปลูกพืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าอาหารกล่องซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างงานและอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ.

 

ทรานส์ฟอร์มองค์กรอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ?

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

alivesonline.com : ในยุคที่องค์กรส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวกับการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์การแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคนั้น ยังมีองค์กรอีกมากที่ติดขัดและไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นอะนาล็อกไปสู่ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น โดยปัจจัยที่เป็นปัญหาระดับต้น ๆ คือการขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงขาดองค์ความรู้ในการทรานส์ฟอร์มองค์กร

อิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจ ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มองว่าองค์ความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นสามารถช่วยธุรกิจไทยในการทรานส์ฟอร์มองค์กรได้เช่นกัน จึงได้ยก 3 กรณีศึกษาที่น่าสนใจจากธุรกิจยักษ์ใหญ่มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อองค์กรธุรกิจในประเทศไทย

กรณีแรกเป็นของบริษัทผู้ผลิตยาสระผมยี่ห้อหนึ่งของญี่ปุ่นที่ต้องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ กลยุทธ์ของบริษัทนี้เลือกใช้วิธีจับมือกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายแก๊สซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลของผู้ใช้น้ำร้อนในภูมิภาคต่าง ๆ จากข้อมูลนี้เองทำให้พบว่า ในบางภูมิภาคมีการใช้น้ำร้อนอย่างมากในช่วงเช้า สะท้อนได้ว่าคนในภูมิภาคนั้น ๆ มีการสระผมตอนเช้า บริษัทผู้ผลิตยาสระผมจึงใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสระผมที่เหมาะกับการสระผมในช่วงเช้าออกมาเจาะตลาดเฉพาะภูมิภาคนั้นได้อย่างตรงกลุ่ม

กรณีต่อมาคือ “โคมัตสุ” ผู้ให้บริการเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างคุณภาพสูง ซึ่งในยุคหนึ่ง “โคมัตสุ” ได้นำเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้ามาติดตั้งในเครื่องจักร เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น แต่นั่นไม่เพียงพอสำหรับยุค Digital Transformation เพราะ “โคมัตสุ” ได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างแพลตฟอร์มชื่อ LANDLOG เนื่องจากตระหนักว่า สิ่งที่ธุรกิจต้องการไม่ใช่แค่ข้อมูลจากเซนเซอร์ หากแต่เป็นภาพรวมของการก่อสร้างตึก หรืออาคารต่าง ๆ แพลตฟอร์ม LANDLOG ของ “โคมัตสุ” จึงเข้ามาตอบโจทย์นั้นได้อย่างลงตัว ด้วยการดึงบริษัทก่อสร้างทุกรายเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าว และนำเสนอข้อมูลนี้ต่อบริษัทเจ้าของอาคารเพื่อให้สามารถตรวจสอบภาพรวม และความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้ในหน้าจอเดียว

กรณีศึกษาสุดท้ายที่นำเสนอคือบริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตราเมงชื่อ “โอตาเคะ” (OHTAKE) ที่ก่อนหน้านี้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถผลิตราเมงให้ดีที่สุดมาโดยตลอด แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จึงตระหนักว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนเช่นกันคือ เรื่องของมุมมองในการทำธุรกิจ จึงได้พลิกกลับ 180 องศา จากที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาเครื่องจักรให้ผลิตราเมงให้ดีที่สุด มาเป็นการโฟกัสไปที่ผู้บริโภคแทนว่าลูกค้าต้องการราเมงแบบใด

ความสำเร็จของทั้งสามองค์กร จาก 3 กรณีศึกษาที่กล่าวมาข้างต้นคือสิ่งที่ธุรกิจไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลใหม่ ๆ การคิดในภาพรวมและสร้างแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงการตระหนักว่า หากขาดความเชี่ยวชาญ การหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการทำ Digital Transformation ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคได้เช่นกัน

สิ่งที่ไม่ควรประมาทในโลกยุคดิจิทัลมี 3 ประการ นั่นคือ คู่แข่งของธุรกิจสามารถเกิดขึ้นมาได้จากทุกที่ เห็นได้จากการเกิดขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล, เฟซบุ๊ก, เสี่ยวมี่ ซึ่งต่างใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี แต่กลับมีมูลค่าองค์กรมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่บริษัทในอดีตอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเติบโตและมีมูลค่าดังกล่าว

ประการที่ 2 คือการตระหนักว่า ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้นหากธุรกิจไม่เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกต่อไป

ประการสุดท้าย คือธุรกิจต้องมองหาพันธมิตรจากส่วนต่าง ๆ มากขึ้น เพราะการมีพันธมิตรจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันและเกิดการไหลเวียนของดาต้าซึ่งดาต้าเหล่านี้จะกลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจนั้น ๆ ในที่สุด

สำหรับธุรกิจที่ไม่มั่นใจว่าจะปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไรให้เข้ากับยุคดิจิทัลนั้นต้องพิจารณาจากลูกค้าขององค์กรเป็นสำคัญและปรับองค์กรให้ตอบโจทย์ลูกค้าของตนเอง เช่น ต้องยอมรับความหลากหลายและไม่ยึดติดกับบุคลากรของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว

นอกจากนั้น ยังต้องปรับกระบวนการด้านการประเมินผลใหม่ เพราะการประเมินผลแบบเดิมอาจไม่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในยุคดิจิทัลอีกต่อไป เช่น กรณีของ “อเมซอน” ที่ไม่ได้ตัดสินใจจากผลกำไรขาดทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใช้ตัวเลข Free Cash Flow ประกอบด้วย หรือกรณีของ “กูเกิล” ที่นำ Objective and Key Results (OKR) มาปรับใช้แทน KPI

สุดท้ายคือการสร้างแพลตฟอร์มที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและชิ้นส่วนทั้งหมดเชื่อมโยงถึงคุณค่าเดียวกัน เช่น กรณีของ “แอปเปิล” ซึ่งไม่ได้ทำการผลิตสินค้าชิ้นใดด้วยตัวเองเลย แต่สร้างกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมผู้ผลิตทั้งหมดให้ทำตามคุณค่าที่ “แอปเปิล” ออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ให้ครบถ้วน หรือ “พานาโซนิค” ที่พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทที่เกี่ยวข้องแม้จะเป็นคู่แข่ง เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุดในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนั่นเอง.

กรุงเทพฯ ขึ้นอันดับ 2 เอเชีย “เมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน”

alivesonline.com : สมาคมการประชุมระหว่างประเทศ ยก กรุงเทพมหานคร ขึ้นอันดับ 2 เอเชียเมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน เป็นรอง เกียวโต ญี่ปุ่น ด้วยคะแนนรวม 58% พร้อมให้คะแนน “ทีเส็บ” ด้านดำเนินงาน 69% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกคือ 53% ด้าน “ทีเส็บ” เดินหน้าผลักดันการสร้างมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue เป็นครั้งแรก มุ่งหวังพัฒนาสถานที่จัดงานที่มีความแปลกใหม่ รองรับความต้องการจัดงานที่หลากหลาย ตั้งเป้ามีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐาน 20 แห่ง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สมาคมการประชุมระหว่างประเทศ (International Congress and Convention Association : ICCA) จัดพิธีมอบรางวัลเมืองพัฒนาไมซ์อย่างยั่งยืน 5 อันดับแรกของโลก ได้แก่ เมืองโกเธนเบิร์ก(Gothenburg) ประเทศเทศสวีเดน เมืองโคเปนเฮเกน(Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก เมืองเรคยาวิก(Reykjavík) ประเทศไอซ์แลนด์ เมืองออสโล (Oslo) ประเทศนอร์เวย์ และเมืองอุปซอลา (Uppsala) ประเทศสวีเดน ตามลำดับ

การจัดรางวัลดังกล่าวอยู่ภายใต้ The Global Destination Sustainability Index (GDS-Index) ซึ่งเป็นโครงการจัดอันดับเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดงานที่มีความสามารถโดดเด่นเรื่อง “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มประเทศยุโรปและสแกนดิเนเวียที่เป็นสมาชิกและได้รับการสนับสนุนจาก ICCA ซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการเป็นจุดหมายปลายทางด้านการจัดงานอย่างยั่งยืนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันบริหารงานโดยพันธมิตรหลัก 4 องค์กร คือ ICCA, MCI Group, IMEX และ European Cities Marketing (ECM) ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่เป็นที่รู้จักในแวดวงอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา และงานแสดงสินค้าทั่วโลก

  • กรุงเทพฯ อันดับ 21 ของโลกตามเกณฑ์ตัวชี้วัด 4 ด้าน

จากรายงานของ The Global Destination Sustainability (GDS) พบว่าในทวีปเอเชียนั้น คะแนน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น อันดับที่ 2 กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อันดับที่ 3 เมืองโกยาง สาธารณรัฐเกาหลีใต้ อันดับ 4 เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และอันดับที่ 5 เมืองดูไบ สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรสต์

กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับ 2 ของเอเชีย และอันดับที่ 21 ของโลก ผ่านการให้คะแนนตามตัวชี้วัดทั้งสิ้น 4 ด้าน ได้แก่ ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance) 14 ข้อ, ตัวชี้วัดด้านสังคม (Social Performance) 4 ข้อ, ตัวชี้วัดด้านความสามารถของการให้บริการ (Supplier Performance) 8 ข้อ และตัวชี้วัดด้านความสามารถขององค์กรสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมของแต่ละประเทศ (CVB Performance) 12 ข้อ

สำหรับ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ได้คะแนนรวมทั้งสิ้น 58% ทั้งยังมีคะแนนสูงสุดในด้านองค์กรส่งเสริมการประชุม โดย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” มีคะแนนการดำเนินงาน 69% ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนของทั่วโลกคือ 53%

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ” กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร และ “ทีเส็บ” เพิ่งเข้าร่วมการจัดอันดับในครั้งนี้เป็นครั้งแรกและเป็นผลที่น่ายินดีที่แสดงว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับมาตรฐานและสิ่งแวดล้อมสำหรับการประชุม

“ปัจจุบัน นักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างให้ความสนใจด้านความยั่งยืนมาก เพราะเป็นเรื่องสำคัญของโลก นอกจากนี้ GDS ยังเชื่อมโยงอยู่กับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติด้วย การจัดอันดับครั้งนี้จึงจะเป็นประโยชน์กับทั้งอุตสาหกรรมไมซ์และประเทศไทยไปพร้อม ๆ กัน”

ล่าสุดจากรายงานของ ICCA และรายงานของ the Global Association of the Exhibition Industry (UFI) ในปี 2560 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ของเอเชียด้านการจัดประชุมนานาชาติ และอันดับที่ 7 ของเอเชียด้านการแสดงสินค้านานาชาติ โดยเป็นที่หนึ่งของอาเซียนทั้งในด้านการประชุมและการแสดงสินค้า

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ “ทีเส็บ”

  • “ทีเส็บ” เร่งผลักดันมาตรฐาน Special Event Venue

นายจิรุตถ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของการจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติปัจจุบันถือเป็นรูปแบบการจัดงานที่ได้รับการยอมรับจาก องค์การส่งเสริมการจัดประชุม หรือ Convention and Visitor Bureau (CVB) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่รับผิดชอบในการส่งเสริมการท่องเที่ยวชั้นนำจากทั่วโลกว่า เป็นงานที่สามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมแก่เมืองและประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลายประเทศทั่วโลกมีแนวทางการพัฒนาการสร้างแบรนด์ หรือสร้างเมือง ผ่านการนำงานเมกะอีเวนท์ระดับโลกมาจัดในประเทศ โดยเทรนด์ของงานประเภทเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้จัดงานและผู้เข้าร่วมงานในระดับนานาชาติ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อาทิ งานเฟสติวัลและอีเวนท์ประเภท 4.0 (Tech Show) งาน creative & lifestyle และงานเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์

“ในส่วนของประเทศไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการจัดงานเมกะอีเวนท์ได้เป็นอย่างดี จากการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงลึกของไทยในการสร้างงานเมกะอีเวนท์ระดับโลกพบว่าไทยมีศักยภาพด้านการจัดงานที่สร้างประสบการณ์ประเภท หรือ Experiential Event การออกแบบไลฟ์สไตล์ และเทศกาลดนตรี เนื่องด้วยมีศักยภาพด้านพื้นที่และผู้จัดงานที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ประกอบกับไทยมีพื้นที่ที่มี Scenic Impact จำนวนมาก ทำให้งานประเภทนี้ได้รับการตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดมา”

ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างปี 2561-2562 ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติ รวม 17 งาน ครอบคลุมทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา บันเทิง และเทคโนโลยี อาทิ L’Etape Thailand by Le Tour de France, World Robot Olympiad 2018, Chiangmai Design Week 2018, Bangkok Art Bienale 2018, Thailand Art Bienale 2018, Bangkok Design Week 2019, Bangkok Entertainment Fest: Bangkok Comicon 2019 & Thailand Comicon 2019, และงาน Bangkok Entertainment Fest: Thailand Toy Expo 2019

จากการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ได้จากการจัดงานเมกะอีเวนท์ในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีจำนวนนักเดินทางเมกะอีเวนท์ที่เข้ามาประเทศไทยประมาณ 8.5 แสนคน สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจของประเทศประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2561 จากเทรนด์การจัดงานเมกะอีเวนท์ที่เพิ่มมากขึ้น ได้มีการคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการจัดงาน โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักเดินทางเมกะอีเวนท์ที่เข้ามาประเทศไทยประมาณ 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจของประเทศไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท

สำหรับการสร้างการรับรู้ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการจัดงานของโลกนั้น “ทีเส็บ” ได้วางแนวทางการดึงงานระดับโลกที่มีชื่อเสียง โดยเน้นงานที่สร้างการมีส่วนร่วมของมวลชน (Mass Participation) ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของพื้นที่ ตอบสนองนโยบายการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเตรียมความพร้อมให้แก่ชุมชนในการร่วมเป็นเจ้าภาพงานขนาดใหญ่ พร้อมทั้งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการจัดงาน สร้างโอกาสให้เมืองและท้องถิ่นได้เรียนรู้และพัฒนาบริการและมาตรฐานการจัดงานของไทยให้เทียบเท่าระดับโลก

“ทีเส็บ” เห็นเป็นโอกาสที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านการพัฒนาสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐาน รองรับการจัดงานเมกะอีเวนท์และเฟสติวัลนานาชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้จัดงานที่ต้องการความแปลกใหม่ จึงได้ริเริ่มการสร้าง มาตรฐานสถานที่จัดงานประเทศไทย (Thailand MICE Venue Standards : TMVS) ประเภทสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษ หรือ Special Event Venue ในปี 2561 เป็นครั้งแรก โดยหลักเกณฑ์ในการชี้วัดมาตรฐานสถานที่จัดงานกิจกรรมพิเศษนี้จะพิจารณาในเรื่องโครงสร้างเชิงกายภาพ การสนับสนุนการจัดการอย่างยั่งยืน และในด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นด้านที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง

สำหรับปี 2561 “ทีเส็บ” ตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้ประกอบการผ่านการรับรองมาตรฐานสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษจำนวน 20 แห่ง

ตลาดข้าวสารบรรจุถุงซบ ‘หงษ์ทอง’ ปรับกลยุทธ์รับศึก


alivesonline.com :
“หงษ์ทอง” แจงเหตุตลาดรวมข้าวสารบรรจุถุงไม่กระเตื้อง ราคาข้าวเปลือกพุ่ง-ผู้ประกอบการปรับราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้น 30-40% เตรียมแผนโกยยอดขายในประเทศ ปี 62 รวม 2.5 พันล้านบาท เน้นกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ พร้อมปรับสายการผลิต

นายกัมปนาท มานะธัญญา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจียเม้งมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวสารบรรจุถุงภายใต้แบรนด์ “หงษ์ทอง” เปิดเผยถึงตลาดรวมข้าวสารบรรจุถุงของประเทศไทยว่า จากสถานการณ์ของข้าวสารเปลือกหอมมะลิในปัจจุบันซึ่งมีราคาสูงอย่างต่อเนื่องถึงตันละ 1.6-1.8 หมื่นบาท ส่งผลให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายปลีกขนาดถุงละ 5 กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 30-40% ทำให้ข้าวสารบรรจุถุงในปัจจุบันมีราคาประมาณ 239-249 บาท จากเดิมที่อยู่ในระดับราคา 185-199 บาท เมื่อช่วงปลายปี 2560 จึงเป็นเหตุให้ตลาดอยู่ในภาวะทรงตัวและมีการเติบโตไม่มากนัก

จากสถานการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคระดับกลางลงล่างหันไปบริโภคข้าวสวยหุงสุกถุงละ 5 บาทตามตลาดนัดทั่วไปเป็นการทดแทน ประกอบกับสังคมไทยอยู่ในภาวะสังคมผู้สูงวัย (Ageing Society) ที่มีประชากรอายุ 50 ปีขึ้นไปมานานเกือบ 10 ปี ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคข้าวเป็นอาหารเพื่อสุขภาพชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เป็นต้น

“สำหรับมูลค่ารวมตลาดข้าวสารบรรจุถุงคาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นตลาดโมเดิร์นเทรดประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตลาดเทรดดิชันนอลเทรดซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายทั่วไปจนยากสำรวจคาดว่าน่าจะมีมูลค่ามากกว่า โดยแบ่งออกเป็น 4 เซกเมนต์หลักคือ ข้าวหอมมะลิ 50% ข้าวขาว 40% ข้าวเพื่อสุขภาพ 3% และอื่น ๆ 4%”

นายกัมปนาท กล่าวอีกว่า ในส่วนของ “หงษ์ทอง” มีผลิตภัณฑ์จำหน่ายครอบคลุมทุกเซกเมนต์ภายใต้ 4 แบรนด์คือ ข้าวหอมมะลิ ระดับพรีเมียม “หงษ์ทอง” ข้าวหอมมะลิ คุณภาพดี “หงษ์ทิพย์” ข้าวขาว คุณภาพดี “หงษ์ไทย” และข้าวซูเปอร์ไรซ์เพื่อสุขภาพ “หงษ์ทองไลฟ์” โดยคาดว่าในปี 2561 จะมียอดขายภายในประเทศประมาณ 2 พันล้านบาท เติบโตขึ้น 4-5% จากเดิมที่ตั้งเป้าว่าจะเติบโตประมาณ 7% โดยมีส่วนแบ่งในตลาดโมเดิร์นเทรด 55% และเทรดดิชันนอลเทรด 45%

ส่วนในปี 2562 บริษัทฯ กำหนดเป้าหมายยอดขายภายในประเทศเป็น 2.5 พันล้านบาท เนื่องจากเริ่มดำเนินแผนการตลาดใหม่ใน 3 ด้านคือ 1.การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จากปัจจุบันที่มีผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุงตั้งแต่ขนาด 1-50 กิโลกรัม รวมประมาณ 400-500 เอสเคยู โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อตอบรับความต้องการผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดเมื่อปี 2560 ได้เริ่มทำตลาดข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% LIMITED EDITION ขนาด 5 กิโลกรัมซึ่ง 1 ปีผลิตได้เพียงครั้งเดียวและสามารถจำหน่ายได้เพียง 2 เดือนเท่านั้นคือเดือนพ.ย.-ธ.ค. เนื่องจากใช้การปลูกด้วยกลวิธี “นาหยอด” จากเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ที่ได้ชื่อว่าเป็น ข้าวที่อร่อยที่สุด หอมที่สุด และนุ่มที่สุดเป็นจุดขายทำให้มีผลผลิตไม่เพียงต่อความต้องการของตลาด ในปี 2561 จึงได้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ จากเดิม 4 หมื่นไร่ในปี 2560 เป็น 6 หมื่นไร่ในปี 2561 ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนถุงจากเดิม 2 แสนถุง ส่วนในปี 2561 ยังได้มีเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มข้าวเพื่อสุขภาพคือ ข้าวกล้องหอมใหม่ขนาด 5 กิโลกรัม และข้าวกล้องซูเปอร์ไรซ์ขนาด 1 กิโลกรัม นอกจากนั้นในช่วงต้นปี 2562 ยังเตรียมทำตลาดข้าวหอมผสม ข้าวขาว และข้าวกล้องในตลาดกลางลงล่าง จำหน่ายในราคา 159 บาทขึ้นไป เพื่อให้มีผลิตภัณฑ์ครอบคลุมตลาดทุกระดับ

2.การเพิ่มช่องทางขายออนไลน์ หลังจากพบว่าในช่วงเทศกาลแคมเปญ 11-11 ที่ผ่านมา สามารถจำหน่ายข้าวหอมมะลิใหม่ต้นฤดู 100% LIMITED EDITION ขนาด 5 กิโลกรัมผ่านช่องทางออนไลน์ Shopee และ Lasada ได้ถึง 1.5 หมื่นถุงภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงและยังมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ จนส่งผลให้มียอดขายผลิตภัณฑ์รวมผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นมากกว่า 500% เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีการเติบโตเพียง 12-15% ในปี 2562 จึงจะเริ่มทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น

3.การปรับระบบการผลิต ด้วยการใช้งบประมาณ 20 ล้านบาทในการนำหุ่นยนต์ (Robot) เข้ามาใช้ในสายการผลิตใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตโดยไม่มีการลดจำนวนบุคลากร พร้อมกันนั้นยังมีการเพิ่มรูปแบบบรรจุภัณฑ์ให้ตรงความต้องการของตลาดโมเดิร์นเทรด เป็นลักษณะบรรจุ 3-6 ถุง พร้อมกันนั้นยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพด้านระบบขนส่ง (Logistic) ตลอดจนมีการจัดการระบบบริหารด้านต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนอีกด้วย

 

 

“ฮาลาลไทย” ประกาศความเป็นหนึ่ง “ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล”


alivesonline.com :
เมื่อโลกก้าวไกลสู่ยุคที่มีนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนในสังคมโลก โดยเฉพาะการนำ “วิทยาศาสตร์ฮาลาล” เข้ามายกระดับเเละพัฒนาผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งเพิ่มภาพลักษณ์ เพื่อสร้าง Thailand Diamond Halal โดยแนวทางศาสนารับรองวิทยาศาสตร์รองรับ ซึ่งเป็นอีกพลังหนึ่งที่มีส่วนสนับสนุนหลักความน่าเชื่อถือและความแม่นยำที่ทำให้ “ฮาลาลไทย” ก้าวสู่ยุคใหม่ทันสมัย

ในปี 2561 ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ) ได้นำเสนอรูปแบบการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติ “International Halal Science and Technology Conference 2018” (IHSATEC) ซึ่งพัฒนามาจากการจัดการประชุม HASIB (Halal Science Industry and Business เพื่อประกาศความเป็นหนึ่งด้านการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลนานาชาติ พร้อมพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

การประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาลในครั้งนี้จึงมีเนื้อหาเข้มข้นด้วยการนำเสนอผลการค้นคว้าการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนสนับสนุนหลักความเชื่อและความศรัทธา โดยนำเสนอผ่านรูปแบบการจัดการประชุมนานาชาติ IHSATEC หรือการประชุมวิชาการนานาชาติ ‘ International Halal Science and Technology Conference โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั้งสิ้น 27 ท่านจากประเทศต่าง ๆ อาทิ บรูไน ปากีสถาน ไทย ตุรกี นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา อียิปต์ และอินโดนีเซีย พร้อมผู้สนใจเข้าร่วมงานมากมาย

‘รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน’ ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้ง ศวฮ. กล่าวเปิดการประชุมในหัวข้อพิเศษ “Tansri Dr. Surin Pitsuwan Memorial Lecture; Precision Halalization in The Bioeconomy Era : บูรณาการฮาลาลแม่นยำยุคเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ด้วยกิจการฮาลาลประเทศไทยกำลังพัฒนาสู่ยุคสมัยแห่งการฮาลาลแม่นยำ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพ” ในฐานะที่ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตร เพราะการเพาะปลูกแม่นยำที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปเช่นนี้ได้สร้างยุคใหม่ให้การเพาะปลูกทางการเกษตรอย่างมีคุณค่า

“การบูรณาการฮาลาลแม่นยำ เป็นความพยายามของประเทศไทยในการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อการรับรองฮาลาล ไม่ว่าจะการตรวจทางห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาล โดยนำระบบ H-Number ที่พัฒนาขึ้นใหม่เข้ามาใช้ เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกวัตถุดิบฮาลาลได้อย่างถูกต้อง และเลือกใช้ห้องปฏิบัติการเฉพาะที่จำเป็น ในระบบการมาตรฐานฮาลาลมีการพัฒนาระบบ HAL-Q Plus เพื่อให้การดำเนินงานการมาตรฐานฮาลาลเป็นไปอย่างจำเพาะโดยใช้เวลาสั้น นอกจากระบบห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ฮาลาลและระบบการมาตรฐานฮาลาลที่ได้รับการพัฒนาขึ้น ปัจจุบันเรามีห้องแล็บที่สุดยอด และมีอุปกรณ์ทันสมัยที่สุด ซึ่งสามารถครอบคลุมการดำเนินงานฮาลาลในทุก ๆ ด้านด้วยการใช้มาตรฐานฮาลาลที่ถูกต้องมีส่วนสำคัญในการพัฒนางานบูรณาการฮาลาลแม่นยำ ตราฮาลาลคือแบรนด์ถือเป็นมาตรฐานที่สำคัญด้วย”

“บูรณาการฮาลาลแม่นยำ” (Precision Halalization) แตกต่างจากมาตรฐาน ISO เพราะการทำในมาตรฐานฮาลาลใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าของ ISO และจะต้องพัฒนาแบรนด์ฮาลาลให้เทียบเท่ากับแบรนด์ “หลุยส์ วิตตอง” จึงต้องสร้างสรรค์และเพิ่มประสิทธิภาพให้มากยิ่งขึ้น เพื่อก้าวสู่แบรนด์ Diamond Halal

ภายในงานยังมีการบรรยาย 5 เรื่องราวที่น่าสนใจ ได้แก่ 1.ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและโภชนาการ โดย ‘เกษิณี เกตุเลขา’ นักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า

“สำหรับทางด้านความปลอดภัยด้านสุขภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุด ความปลอดภัยในที่นี้ไม่เพียงแต่ตัวผลิตภัณฑ์สุดท้ายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัตถุดิบตั้งต้น ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ฉลาก วัสดุที่นำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีและกระบวนการผลิต เป็นต้น ในการผลิตเครื่องสำอางฮาลาลจะต้องมีความปลอดภัยจากความเสี่ยงของโรคและการติดเชื้อโรคต่าง ๆ สิ่งที่สำคัญสุดคือ การทำให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับการผลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต (GMP) ทั้งคุณภาพของเครื่องสำอางฮาลาลเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เครื่องสำอางฮาลาลชิ้นหนึ่งจะสามารถพิจารณาว่าฮาลาลก็ต่อเมื่อเครื่องสำอางดังกล่าวผลิตได้คุณภาพตรงตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนดทางด้านคุณภาพของเครื่องสำอางประเภทนั้น ๆ”

2.เศรษฐกิจฐานชีวภาพและการตลาดดิจิตัลฮาลาล กล่าวโดย ‘ดร.ภราดร สุรีย์พงษ์’ รองผู้อำนวยการ ศวฮ.

“เศรษฐกิจดิจิทัลฮาลาลจะทำให้มีการใส่ใจเกี่ยวกับฮาลาลมากขึ้นและจะมีการจดใบรับรองกันมากขึ้นเพื่อให้ได้มาตรฐานมากขึ้น ทั้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวดเร็วมากขึ้น นั่นก็จะต้องมีระบบไอทีมาช่วยให้ระบบตรวจสอบฮาลาล ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ถูกลง และรวดเร็ว ดังนั้นจะเป็นการช่วยผู้บริโภคอยากรู้อะไรไม่ต้องโทร.ไปถาม เพราะปัจจุบันนี้เพียงใช้สามาร์ทโฟนก็ได้คำตอบแล้ว ทั้งยังช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองที่ดีขึ้นด้วย หรือการขอรับรองฮาลาลก็ใช้แอปพลิเคชั่นเป็นตัวช่วยในทุกขั้นตอน เรียกว่า ขอฮาลาลออนไลน์ก็ได้ Certification Body ผู้ประกอบการจะได้ e-Certification ไปเลย ทำให้การรับรองมากยิ่งขึ้น เมื่อโลกเปลี่ยน เปิดประตูฮาลาลสู่โลกกว้างในยุคดิจิทัล ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่น่าจับตามอง”

3.นวัตกรรมใหม่ด้านวัสดุสัมผัสอาหารกับมุมมองด้านฮาลาล ‘ดร.อัซอารีย์ สุขสุวรรณ’ นักวิจัย บรรยายว่า

สำหรับนวัตกรรมในเรื่องของวัสดุที่ใช้ในอุตสาหกรรมฮาลาล นอกจากอาหารแล้วยังต้องดูในเรื่องของการบริการด้วยคือจะเป็นอาหาร ส่วนที่ไม่เป็นอาหารและการบริการส่วนนี้เป็นแพ็กเกจจิ้ง ต้องตรวจสอบที่มาว่าเป็นฮาลาลหรือไม่ โดยจะมีอุปกรณ์ตัวสอบ Smart Polymer หรือ Smart Material ใช้ตรวจสอบแหล่งที่มา มาจากส่วนประกอบของสัตว์ แม้กระทั่งต้องคำนึงถึงวิธีการเลี้ยงด้วย หรือสัตว์ต้องห้ามตามหลักศาสนา ซึ่งฮาลาลส่วนใหญ่มาจากธรรมชาติ คือมาจากพืช หากแหล่งที่มาถูกต้องก็สามารถใช้ได้ ดังนั้นส่วนประกอบที่สำคัญในการตรวจสอบ จะเน้นไปที่ของกินได้ หรือไม่ได้ เช่น พวกเครื่องสำอาง ยา เป็นต้น

4.เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อผลิตภัณฑ์และบริการด้านฮาลาล กล่าวโดย ‘มาลิก บูอิด’ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ธนาคารกาตาร์เซ็นเตอร์ ประเทศกาตาร์ 

“ในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้เรื่องฮาลาลมีความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น แต่ต้องคำนึงถึงจริยธรรม หรือกฎหลักต่าง ๆ ตามศาสนาอิสลามมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับหลักศาสนามากที่สุด เช่น เรื่อง Blockchian เป็นเรื่องความน่าเชื่อถือ ทั้งการใช้ Artificial Intellectual (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นเรื่องของสมองที่ไม่สามารถโคลนนิ่งได้ และเรื่องของความรู้สึกความตระหนักรู้ก็ไม่สามารถทำได้เลย แต่ถึงอย่างไรก็สามารถสร้าง AI ให้สอดคล้องในทางปฏิบัติกับศาสนาและหลักฮาลาลได้ เช่น ในหน่วยงานราชการ ด้านการศึกษา สาธารณสุข เรื่องของอาหาร หรืออุตสาหกรรมอาหาร การคมนาคม ใช้ให้เกิดประโยชน์ในส่วนนี้เหล่านี้ได้ ซึ่งจะทำอย่างไรให้พวกเราชาวมุสลิมจัดการในส่วนข้อมูล หรือการจัดการในอย่างเฉพาะเจาะจง หรือใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้ ดังนั้นจะต้องนำมาประยุกต์และเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีให้สอดคล้องกับหลักการทางศาสนาและหลักฮาลาลให้ได้ แม้เวลาจะเปลี่ยนไปแต่คำสอนยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่มาตรฐานจะมากขึ้นจากเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้”

5.เทคโนโลยีโอมิกส์สู่การบูรณาการฮาลาลแม่นยำ

ในปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีโอมิกส์มาประยุกต์ใช้ในการวิจัยด้านการเกษตร อาหาร และโภชนาการ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทั้งในเชิงคุณภาพของวัตถุดิบ การเปลี่ยนแปลงในระหว่างกระบวนการแปรรูปและเก็บรักษาอาหาร สมบัติทางโภชนาการและการออกฤทธิ์ทางชีวภาพของสารอาหาร รวมทั้งระดับการปนเปื้อนของสารพิษและความปลอดภัยของอาหาร โดยทำให้เกิดบูรณาการฮาลาลแม่นยำ

เหล่านี้จึงนับเป็นความก้าวหน้าของการนำนวัตกรรม เทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ “ฮาลาล” สู่ความเป็นหนึ่ง.

 

“เจนเนอราลี่ – ธ.เกียรตินาคิน” เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตใหม่


alivesonline.com :
“เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต” ร่วมมือ “ธนาคารเกียรตินาคิน” เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและโรคมะเร็งใหม่ “เคเคเจน แคนเซอร์ อัลทิเมท โพรเทค” ให้ความคุ้มครองสูงสุดถึง 500% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย ตอบโจทย์ทุกความต้องการ

นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันชีวิต (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “เจนเนอราลี่” ตระหนักถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ครอบคลุมรอบด้าน ทั้งการคุ้มครองชีวิตและสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงได้ร่วมกับ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและโรคมะเร็ง “เคเคเจน แคนเซอร์ อัลทิเมท โพรเทค” (KKGEN Cancer Ultimate Protect) โดยยึดหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง

ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตดังกล่าวอยู่ภายใต้แนวคิด “Customer Centric” หรือ “การเป็นองค์กรที่มีลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” โดยเป็นทั้งแผนประกันชีวิตและโรคมะเร็งคุ้มครองในหนึ่งเดียว ครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็ง ทั้งระยะไม่ลุกลาม และระยะลุกลาม โดยผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคุ้มครองเป็นเงินก้อน หากตรวจพบมะเร็งระยะไม่ลุกลาม บริษัทฯ จะจ่ายเงินให้ทันทีตามจำนวนเงินเอาประกันภัย แต่หากตรวจพบมะเร็งระยะลุกลาม บริษัทฯ จะยังคงจ่ายเงินก้อนให้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งได้รับการยกเว้นชำระเบี้ยประกันสัญญาหลักในปีต่อไปจนครบสัญญา นอกจากนี้ในเรื่องของระยะเวลาความคุ้มครองยังให้ความคุ้มครองถึงอายุ 85 ปี และผู้เอาประกันภัยจะได้รับเงินคืนเมื่อครบสัญญาอีกด้วยซึ่งถือเป็นจุดเด่นอีกด้านของแผนประกันนี้

สำหรับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีให้เลือกทั้งหมด 4 แผนตั้งแต่ 700,000–3,000,000 บาท ซึ่งทุกแผนมาพร้อมกับความคุ้มครองหลักดังนี้คือ 1.คุ้มครองการเสียชีวิตทุกกรณี 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย โดยบริษัทฯ จะจ่ายผลประโยชน์ความคุ้มครองตามจำนวนเงินเอาประกันภัย ในกรณีเสียชีวิตในระยะเวลาที่รับประกันภัย (คุ้มครองถึงอายุ 85 ปี) 2.ครอบคลุมการรักษาโรคมะเร็งทุกระยะสูงสุด 400% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย แบ่งเป็นความคุ้มครอง 100% ของจำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะไม่ลุกลาม และ 300% ของจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งระยะลุกลาม หากจ่ายความคุ้มครองตามการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งระยะลุกลามแล้วถือว่าสัญญาเพิ่มเติมนี้สิ้นสุด

3.ยกเว้นการชำระเบี้ยประกันสัญญาหลัก สำหรับปีต่อไปจนครบสัญญา หากตรวจพบโรคมะเร็งระยะลุกลาม 4.รับเงินครบกำหนดสัญญา 100 % ของจำนวนเงินเอาประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ก็ยังได้เงินคืน โดยบริษัทฯ จะคืนเงินเต็มตามจำนวนเงินประกันภัย เมื่อครบกำหนดสัญญา (ในปีกรมธรรม์ที่ผู้เอาประกันภัยอายุครบ 85 ปี)

“การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อขายผ่านทางธนาคารเกียรตินาคิน เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของเจนเนอราลี่ได้มากขึ้น โดยธนาคารเกียรตินาคินถือเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งสามารถสร้างยอดขายประกันชีวิตควบการลงทุนให้กับเจนเนอราลี่ได้อย่างยอดเยี่ยมมาแล้ว การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในครั้งนี้จึงมั่นใจว่าจะเป็นอีกผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าของธนาคาร” นายบัณฑิต กล่าวในตอนท้าย

“ASEANbeauty 2019” ร่วมสัมมนา “ตลาดความงามไทย”

“อนุชนา วิชเวช” (กลาง) ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมงานสัมมนาให้ความรู้เรื่องตลาดความงามไทยและโอกาสของเครื่องสำอางแบรนด์ญี่ปุ่นในประเทศไทยและการเปิดตัว Japan Pavilion ในงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจความงามและสุขภาพ “ASEANbeauty 2019” ซึ่งเป็นการนำแบรนด์คุณภาพจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาเปิดตัวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-4 พฤษภาคม 2562 ณ ไบเทค บางนา เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยกับญี่ปุ่นในด้านอุตสาหกรรมความงาม ซึ่งมีผู้ประกอบการความงามของญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 70 ราย พร้อมจัดเวทีเจรจาธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ( Business networking ) ณ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็ว ๆ นี้

ทั้งนี้ งาน “ASEANbeauty 2019” เปิดจองพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการ รายละเอียดติดต่อ “ธนิยา โกมารกุล ณ นคร” (ผู้จัดการฝ่ายขาย) โทร.0 2036 0500 ต่อ 222 หรือ “สุมาพร พึ่งโพธิ์” (ฝ่ายขายต่างประเทศ) โทร.0 2036 0500 ต่อ 223 หรือ http://www.aseanbeautyshow.com/

“มาดามแมงโก้” ทูลเกล้าฯถวายผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


“ราเมศ รัตยันตรกร” และคณะผู้บริหาร บริษัท มาดามแมงโก้ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งและแปรรูปจาก จ.เชียงใหม่ ภายใต้แบรนด์ MADAME mango ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายผลิตภัณฑ์ผลไม้อบแห้งและผลไม้แปรรูปต่าง ๆ แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจำหน่ายในร้านอุปนายิกาโดยมอบรายได้ทั้งหมดจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆให้ทางร้าน พร้อมกับนำรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในงานกาชาดประจำปี 2561 ณ สวนลุมพินี เมื่อเร็ว ๆ นี้