บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ซือดะ” สนับสนุน “มุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 4”

นางสาวกิดาการ นิพรรัมย์ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้จัดการฝ่ายการตลาด (บริหารผลิตภัณฑ์) พร้อมด้วย นางสาวกสิกา จินดารัตน์ (ซ้ายสุด) ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาด (กิจกรรมพิเศษ) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ซือดะ” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขวัญใจพี่น้องชาวมุสลิม เป็นตัวแทนมอบกระเช้าของขวัญให้แก่ นายอิทธิพล คุณปลื้ม (ที่ 2 จากขวา)  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ประธานปิดงาน“มุสลิมไทยแฟร์ครั้งที่ 4” ในฐานะที่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “ซือดะ” เป็นผู้ให้การสนับสนุนงานประเพณีครั้งยิ่งใหญ่ของพี่น้องไทยมุสลิม ประจำปี 2561 พร้อมกันนี้ ยังได้นำทีมเข้าร่วมเปิดบูธจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ณ ลานพลาซ่าอินดอร์สเตเดี้ยม หัวหมาก เมื่อเร็ว ๆ นี้

“มาสเตอร์การ์ด” ระบุท่องเที่ยวไทยแกร่ง กรุงเทพฯ ยังครองแชมป์อันดับหนึ่ง

alivesonline.com : ผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ดฉบับที่ 7 ประจำปี 2561 (Mastercard Global Destination Cities Index, GDCI 2018) ระบุ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในผลการสำรวจทั่วโลกที่มีเมืองท่องเที่ยวถึงสามแห่งติดอยู่ใน 20 อันดับต้น อ้างอิงจากผลการสำรวจจาก “มาสเตอร์การ์ด” ที่เปิดเผยเมื่อเร็ว ๆ นี้

ผลการสำรวจล่าสุดระบุว่า “กรุงเทพฯ” คือเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลกที่นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุด ถือเป็นการครองอันดับหนึ่งครั้งที่ห้าในรอบหกปีนับจากปี 2555 และเป็นการครองอันดับหนึ่งต่อเนื่องเป็นปีที่สามแล้ว โดยในปีนี้ยังมี “ภูเก็ต” และ “พัทยา” ติดโผเข้ามาอยู่ในตำแหน่งที่ 12 และ 18 ตามลำดับ

ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ “ภูเก็ต” ได้ก้าวเข้ามาอยู่ใน 10 อันดับต้นในแง่ของมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและยังเป็นปีแรกที่มีการรวม “ภูเก็ต” และ “พัทยา” เข้าไว้ในการสำรวจส่วนนี้ และมีการเพิ่มเมืองสำรวจจาก 132 เมืองในปี 2559 เป็น 162 เมืองในปี 2560

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาพักแรมเป็นจำนวนสูงถึงกว่า 20 ล้านคน ทำให้ “กรุงเทพฯ” สามารถเบียด “ลอนดอน” (19.83 ล้านคน) ให้รั้งอันดับสองอีกครั้งเหมือนปีที่ผ่านมา โดยชาติที่มาเยือนไทยมากที่สุดยังคงเป็นเหมือนเช่นปี 2560 ซึ่งก็คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ระบุปัจจัยหลักจากแรงหนุนของภาครัฐ

“โดนัลด์ ออง” ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ของ “มาสเตอร์การ์ด” กล่าวว่า ความจริงที่ว่าไทยเป็นประเทศเดียวที่มีเมืองน่าเที่ยวถึงสามแห่งติดอยู่ในยี่สิบอันดับต้น ตอกย้ำถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่มีเสถียรภาพ การผสมผสานที่ลงตัวทั้งในเรื่องงานและการพักผ่อน รวมไปถึงเสน่ห์ในวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่ใคร ๆ ต่างหลงใหล ยิ่งกว่านั้นความพยายามจากหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการรักษาระดับการเติบโตที่เหนือกว่ามาตรฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยให้ต่อเนื่องต่อไป

“ประเทศไทยมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกหลายรายการในปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลไทยได้ขยายข้อยกเว้นให้แก่นักท่องเที่ยวที่พักระยะสั้นและมีการเพิ่มจุดตรวจคนเข้าเมืองพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่น่าจะแพงเท่าเมืองใหญ่อื่น ๆ เช่น ปารีส สิงคโปร์ หรือกรุงโซล เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กรุงเทพฯ ยังคงครองอันดับหนึ่งสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลก และเราก็รู้สึกดีใจที่ปีนี้ภูเก็ตได้ก้าวเข้ามาอยู่ในสิบอันดับต้นร่วมกับกรุงเทพฯ เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินจากการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว”

ทุกเมืองจุดหมายปลายทางทั้งสิบอันดับต้นในการสำรวจของปี 2560 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักแรมเพิ่มขึ้นทั้งหมด ยกเว้นในกรุงโซลที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่พักแรมลดลง แต่การคาดการณ์ในปี 2561 นั้น ระบุว่าทุกเมืองน่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อิสตันบูล” ซึ่งน่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมากที่สุด

“ภูเก็ต” ติดโผเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากที่สุด

การใช้จ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยวในแต่ละเมืองนั้นไม่เท่าเทียมกัน “ดูไบ” ยังคงเป็นที่หนึ่งสำหรับเมืองที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินมากที่สุดเมื่อพักค้างคืนโดยเฉลี่ยต่อวันต่อคนอยู่ที่ 537 เหรียญสหรัฐ (17,500 บาท) ตามด้วย “เมกะ” ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งติดอันดับเป็นครั้งแรกในลำดับที่สอง และน้องใหม่อีกสองเมืองคือ “ปัลมา เด มายอร์กา” ในสเปน และ “ภูเก็ต” ของไทย ส่วนบรรดาเมืองที่มีผู้มาเยือนมากที่สุดนั้น “อิสตันบูล” กลับเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวใช้จ่ายต่อวันต่ำสุดอยู่ที่ 108 เหรียญสหรัฐ (3,500 บาท) เท่านั้น

“การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเศรษฐกิจสังคมเมืองยุคใหม่ในหลาย ๆ แห่ง เพราะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและเติมเต็มความพึงพอใจให้ทั้งผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองและผู้มาเยือน หลาย ๆ เมืองจึงต้องเร่งยกระดับมาตรฐานในการหาสิ่งแปลกใหม่ที่จะมอบให้ทั้งความทรงจำและประสบการณ์ดี ๆ แก่นักท่องเที่ยว”

มิเกล กามิญโญ จูเนียร์ รองประธานฝ่ายบริหารเมืองสากลของ “มาสเตอร์การ์ด” กล่าว

“เราร่วมมือกับหลาย ๆ เมืองทั่วโลก เพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขาจะได้ข้อมูลเชิงลึกและมีเทคโนโลยีที่ช่วยดึงดูดและอำนวยความสะดวกสบายแก่นักท่องเที่ยว พร้อม ๆ ไปกับรักษาเอกลักษณ์ที่ทำให้จุดหมายปลายทางนั้น ๆ มีความพิเศษที่ดึงดูดให้ผู้คนมาเยือนตั้งแต่แรก”

 ไม่ว่าเหตุผลของการเดินทางจะเป็นเรื่องงาน หรือการพักผ่อน “มาสเตอร์การ์ด”ได้ร่วมมือกับพันธมิตรมากมาย ทั้งในส่วนของ การท่องเที่ยว การวางแผนเมือง ธนาคาร รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ทั่วโลก และในไทยเพื่อที่จะ

  • บ่งชี้และช่วยการบริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ ที่ท้าทายชีวิตคนเมืองด้วยโซลูชั่นด้านดิจิทัลและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เมื่อไม่นานนี้ “มาสเตอร์การ์ด” ได้เปิดตัว City Possible ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มระดับสากลสำหรับเมือง สถาบันวิจัย และองค์กรธุรกิจในภาคเอกชน เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจส่งผลถึงหลายฝ่ายผ่านความร่วมมือและประสานงานกัน
  • ให้การเข้าถึงบริการสำคัญ ๆ ในเมืองต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย อาทิบริการขนส่งมวลชน ในกว่า 100 เมือง (และเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ) ที่ให้นักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่สามารถใช้บัตร “มาสเตอร์การ์ด” ที่มีอยู่แล้วชำระค่าเดินทางได้ทันทีด้วยเทคโนโลยีของ “มาสเตอร์การ์ด”
  • ให้ผู้คนได้เดินทางท่องโลกด้วยความอุ่นใจ โดยมอบแผนการเดินทางที่สะดวกสบาย พร้อมการเชื่อมต่อที่ลื่นไหลไม่มีสะดุด สู่จุดหมายปลายทางได้อย่างไร้กังวล ด้วยการตอบรับที่ดีจากผู้ค้าหลายล้านแห่งทั่วโลก
  • สร้างประสบการณ์อันเป็นเอกลักษณ์ด้านอาหาร บันเทิง และการช้อปปิ้ง ในเมือง Priceless Cities 42 แห่งทั่วโลก รวมถึง กรุงเทพฯ ลอนดอน ปารีส และอีกมากมายในรายการ

เกี่ยวกับดัชนีผลสำรวจสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางของโลกโดย “มาสเตอร์การ์ด”

ดัชนี “มาสเตอร์การ์ด” สำหรับเมืองจุดหมายปลายทางของโลก เป็นการจัดลำดับเมืองต่าง ๆ โดยวัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าที่มีการพักค้างคืนทั้งหมด รวมถึงการใช้จ่ายข้ามพรมแดนในเมืองจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มเดียวกันนี้ในปี 2560 พร้อมคาดการณ์ถึงจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเติบโตที่จะเกิดขึ้นในปี 2561

การวิเคราะห์ข้อมูลด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติขาเข้าที่มีการพักค้างคืน ตลอดจนข้อมูลด้านการใช้จ่ายข้ามพรมแดนของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ในเมืองจุดหมายปลายทางทั้ง 162 แห่ง เป็นการอ้างอิงมาจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

การคาดการณ์นี้อ้างอิงจากพยากรณ์การท่องเที่ยวของแต่ละประเทศและนำข้อมูลที่ได้มาถ่วงน้ำหนักเพื่อหาค่าเฉลี่ย ร่วมกับข้อมูลจริงที่รวบรวมได้ในแต่ละเดือนจากเมืองต่าง ๆ ในปี 2561 ซึ่งจะเป็นข้อมูลถึงเดือนล่าสุดก่อนเดือนที่มีการออกรายงาน

ทั้งนี้ ดัชนีและรายงานที่มาพร้อมกันนี้มิได้อ้างอิงจากยอดขาย หรือข้อมูลทางธุรกรรมของ “มาสเตอร์การ์ด”

“เฮเฟเล่” ร่วมออกบูธในงาน “โฮมโปร เอ็กซ์โป ครั้งที่ 28”

นายโยธิน ประเสริฐกุล (กลาง) ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายการตลาด บริษัท เฮเฟเล่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านและครัวเรือน พร้อมทั้งสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ในห้องน้ำ คุณภาพมาตรฐานเยอรมนี ร่วมออกบูธในงาน “โฮมโปร เอ็กซ์โป ครั้งที่ 28” พร้อมกับโปรโมชั่นและสินค้าราคาพิเศษสำหรับผู้เข้าชมงาน ให้เลือกช้อปจัดหนัก ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 18 พ.ย.61 ณ ฮอลล์ 5-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“อิตัลไทยวิศวกรรม” ร่วมกิจกรรม “One Italthai Fun Run 2018”

นางนิจพร จรณะจิตต์ (ที่ 4 จากขวา) Chairwoman กลุ่มบริษัทอิตัลไทย พร้อมด้วย นายยุทธชัย จรณะจิตต์ (ซ้ายสุด) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอิตัลไทย และ นายสกล เหล่าสุวรรณ (ที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จำกัด นำทีมผู้บริหารและพนักงานเข้าร่วมกิจกรรม “One Italthai Fun Run 2018” การแข่งขันเดิน-วิ่ง เพื่อสุขภาพ เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความสามัคคีภายในองค์กร โดยมุ่งเน้นสอดแทรกกิจกรรมที่เชื่อมโยงถึงค่านิยมหลักขององค์กรในการทำงาน 6 ประการ “ITALTHAI Core Values” ตามนโยบายของ ITALTHAI Group เพื่อให้เกิดพลังเชิงบวกในการทำงานและสร้างพลังความเป็นหนึ่งให้เกิดประสิทธิผลอย่างสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ณ สวนลุมพินี เมื่อเร็ว ๆ นี้

“ธนาแลนด์” จัดกิจกรรม Thank You Party

นายโกวิทย์ สุวาณิชย์กุล (ที่ 4 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนาแลนด์ จำกัด พร้อมทีมบริหารร่วมกันจัดงาน “Thank You Party : Happiness at Thana Astoria” เพื่อขอบคุณและส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าของโครงการคอนโดมิเนียม “ธนา แอสโทเรีย ปิ่นเกล้า” ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ กิจกรรมเวิร์คชอปทำขนมคัพเค้กกับ “เพชร กรุณพล”, Workshop Cactus ปลูกต้นกระบองเพชรน่ารัก ๆ, บริการล้างรถ-เติมลมให้ลูกค้า และกิจกรรมสนุก ๆ อิ่มอร่อยอื่น ๆ อีกมากมาย ปิดท้ายงานช่วงค่ำด้วยมินิคอนเสิร์ตในบรรยากาศอบอุ่นจาก “อะตอม ชนกันต์” นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดัง พร้อมมอบของขวัญ-ของรางวัลมากมาย รวมถึงโปรโมชั่นพิเศษสุดสำหรับลูกค้าใหม่ที่จองสิทธิ์ภายในงาน โดยได้รับความสนใจจากลูกบ้านเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

มูลนิธิอารยสถาปัตย์ฯ จัดงานใหญ่เพื่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ และมนุษย์ล้อ

นายกฤษนะ ละไล (นั่งกลาง) ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล พร้อมด้วย นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ (ที่ 3 จากซ้าย) อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน “Thailand Friendly Design Expo 2018 มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 3” งานรวมสุดยอดเทคโนโลยี-นวัตกรรมอารยสถาปัตย์ เพื่อผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ และมนุษย์ล้อ ตามแนวคิด “Smart Living for All : คุณภาพชีวิตที่นำสมัยเพื่อคนทั้งมวล” ซึ่งจะจัดระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2561 ณ ฮอลล์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยได้รับเกียรติจาก นายอิทธิพล คุณปลื้ม (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายภูษิต ศศิธรานนท์ (ที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด พร้อมด้วยแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้

“มูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย” มอบเงินบริจาคสนับสนุน วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี

นายกริช ทองนาค กรรมการ “มูลนิธิมิตซูบิชิ อิเล็คทริคไทย” นำคณะผู้บริหารและพนักงานจิตอาสาของกลุ่มบริษัท มิตซูบิชิ อิเล็คทริค ประเทศไทย มอบเงินบริจาค จำนวน 153,909 บาท ให้แก่วัดพระพุทธบาทน้ำพุ จังหวัดลพบุรี โดยมีท่านเจ้าคุณอลงกต ติกฺขปญฺโญ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ เป็นผู้รับมอบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือเด็กที่ติดเชื้อเอดส์และเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบติดเชื้อโรคเอดส์จากบิดามารดาซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของทางวัด ตลอดจนเพื่อให้วัดได้ใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นต่าง ๆ อาทิ ค่าอาหาร ค่ายารักษาโรค ค่าบริหารจัดการภายในวัด และค่าเผาศพ เป็นต้น

ประกาศราชกิจจานุเบกษา ยกเลิกค่าธรรมเนียม VOA ถึง 13 ม.ค.62

alivesonline.com : เมื่อวันอังคารที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา http://www.mratchakitcha.soc.go.th/announce.html ประกาศ กฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราตามมาตรา ๑๒ (๑) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ.๒๕๖๑ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑ จนถึงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๖๒

ประกาศดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๖๑ เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามมาตรา ๑๒ (๑) ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้้งเดียว เป็นการชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๖๑ ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราของคนต่างด้าวซึ่งประสงค์จะเดินทางเข้า มาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อการท่องเที่ยวเป็นเวลาไม่เกิน ๑๕วัน

r-uกรณียื่นขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa On Arrival : VOA) จากเดิมที่ให้มีการเก็บอัตราค่าธรรมเนียม ประเภทนักท่องเที่ยว ชนิดใช้ได้ครั้งเดียว จำนวนเงิน ๒,๐๐๐ บาท ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๓๐ (พ.ศ.๒๕๕๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ เป็นให้ยกเลิกการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นการชั่วคราว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยครอบคลุม ๒๑ ประเทศ ได้แก่ อันดอร์รา บัลแกเรีย ภูฏาน จีน ไซปรัส เอธิโอเปีย ฟิจิ อินเดีย คาซัคสถาน ลัตเวีย ลิทัวเนีย มัลดีฟส์ มอลตา มอริเชียส ปาปัวนิวกิเนีย โรมาเนีย ซานมาริโน ซาอุดิอาระเบีย ไต้หวัน ยูเครน และอุซเบกิสสถาน

ต่างชาติเชื่อมั่นไทย หนุนอุตสาหกรรมไมซ์ปี 61 สร้างรายได้กว่า 2 แสนล้านบาท

alivesonline.com : TCEB สรุปผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์กว่า 34 ล้านราย สร้างรายได้รวม 2.1 แสนล้านบาท โดยเฉพาะจำนวนนักเดินทางต่างชาติเติบโตสูงขึ้นถึง 19.85% เร่งขานรับนโยบายรัฐขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต สนับสนุนการจัดงานไมซ์ใน 5 อุตสาหกรรม S-Curve เป็นสัดส่วนถึง 53.3% ของจำนวนทั้งหมด 406 งาน เผย 3 กลยุทธ์หลักปี 62 เดินหน้าสู่เป้าหมายเพิ่มนักเดินทางเป็น 35 ล้านราย สร้างรายได้รวม 2.2 แสนล้านบาท

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB เปิดเผย ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมไมซ์ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 มีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ รวม 34,267,307 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศไทยรวม 212,924 ล้านบาท โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศ รวม 1,255,985 ราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 19.85% ก่อให้เกิดรายได้จากการใช้จ่าย 95,623 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 8.10% มีระยะพำนักเฉลี่ย 5 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 76,135 บาท

สำหรับนักเดินทางกลุ่มหลักที่เข้ามาในประเทศไทยคิดเป็นนักเดินทางธุรกิจชาวเอเชีย 85.77% ของจำนวนนักเดินทางทั้งหมด โดย 10 อันดับแรกของประเทศที่เดินทางเข้ามาคือ จีน 214,877 ราย อินเดีย 152,638 ราย มาเลเซีย 146,387 ราย สิงคโปร์ 84,211 ราย เกาหลีใต้ 71,141 ราย เวียดนาม 55,306 ราย สปป.ลาว 55,125 ราย ญี่ปุ่น 51,361 ราย อินโดนีเซีย 51,320 ราย และฟิลิปปินส์ 42,398 ราย

“ขณะเดียวกันยังมีจำนวนนักเดินทางกลุ่มไมซ์จาก 5 ประเทศที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจและมีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ แคนาดา เติบโต 309.97% กัมพูชา เติบโต 182.25% เมียนมาร์ เติบโต 137.32% เวียดนาม เติบโต 109.26% และนิวซีแลนด์ เติบโต 78.92%”

นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศมีจำนวน 33,011,322 ราย มีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริป 3,553 บาท ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจ 117,301 ล้านบาท ซึ่งในแง่ของรายได้นั้นมีการเติบโต 28.89% เป็นผลมาจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยอันเกิดมาจากการขยายตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวในระดับสูง โดยมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือ GDP ในปี 2561 จะเติบโตจากปีที่ผ่านมา 20.5% ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมขยายตัว 4% ทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความมั่นใจที่จะใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในการออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวและอบรมสัมมนาใน 55 เมืองรองให้สามารถลดหย่อนภาษีค่าใช้จ่ายจากการจัดประชุมสัมมนาได้ 100%

 

 

“การเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ไทยเป็นผลมาจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการให้อุตสาหกรรมไมซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมและมาตรฐานของสถานที่จัดงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และไมซ์ซิตี้อีก 4 แห่งคือเชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา รวมถึงความเป็นมืออาชีพของบุคลากรไมซ์ที่มีความสามารถและได้มาตรฐานมากขึ้น ทำให้นักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างชาติให้ความมั่นใจประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดงาน ขณะเดียวกันภายในประเทศยังมีนโยบายส่งเสริมการประชุมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อสร้างการกระจายรายได้และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคชุมชนด้วย” นายจิรุตถ์ กล่าว

 

 

ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของ บริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์นอกจากการใช้จ่ายของผู้เข้าร่วมงาน ในปี 2561 ยังมีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดกิจกรรมไมซ์ทั้งสิ้น (Total Expenditure) เป็นมูลค่าถึง 251,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 230,000 ล้านบาทในปี 2560 โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 316,000-405,000 ล้านบาทในปี 2565 โดยผลพลอยได้ทางเศรษฐกิจของกิจกรรมในอุตสาหกรรมไมซ์มีมูลค่า 177,200 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP Contribution) ก่อให้เกิดการจ้างงาน 181,000 ตำแหน่ง และสามารถจัดเก็บภาษีให้กับประเทศไทยได้กว่า 23,400 ล้านบาท

 

ผลงานเด่นปี 61 จัดงานไมซ์เกิน 400 งาน

สำหรับผลงานเด่นด้านการตลาดของ TCEB ในปีงบประมาณ พ.ศ.2561 คือ การสนับสนุนและยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงาน (Bidding) ทั้งสิ้น 406 งาน แบ่งเป็น 1.สนับสนุนการประชุม (Meeting) และการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive) จำนวน 231 งาน 2.สนับสนุนการจัดงานประชุมนานาชาติ (Convention) จำนวน 108 งาน 3.สนับสนุนการจัดงานแสดงสินค้า (Exhibition) จำนวน 31 งาน แบ่งเป็น งานที่ยกระดับ (Upgrade Show) จำนวน 28 งาน และงานใหม่ (New Show) จำนวน 9 งาน 4.ยื่นประมูลสิทธิ์การจัดงาน จำนวน 30 งาน

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม S-Curve และ New S-Curve ประกอบด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตนั้น ทำให้ในปี 2561 TCEB ได้ประมูลสิทธิ์การจัดงาน ตลอดจนให้การสนับสนุนการจัดงานประชุมและงานแสดงสินค้านานาชาติที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว เป็นจำนวน 217 งาน คิดเป็น 53.3% ของจำนวนงานทั้งหมด แบ่งเป็นคลัสเตอร์ไมซ์ตามอุตสาหกรรม 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food Agriculture & Bio-Tech) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ จำนวน 18 งาน 2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health Wellness & Bio Med) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จำนวน 58 งาน 3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ ระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics Mechatronic) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ยานยนตร์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ จำนวน 41 งาน 4.กลุ่มดิจิตอล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เชื่อมต่ออุปกรณ์ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital IOT & Convergence) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และดิจิตอล จำนวน 29 งาน 5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมและบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative Culture & High Value Services) ประกอบด้วย อุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวน 71 งาน

ชู 3 กลยุทธ์หลักเดินหน้าสู่เป้าหมายรายได้ 2.2 แสนล้านบาท

นายจิรุตถ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไมซ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อและการเข้าถึงตลาด ASEAN และ CLMV ขณะเดียวกันยังมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor :EEC) ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ระดับนานาชาติ TCEB จึงได้กำหนดกลยุทธ์ของการดำเนินงานในปี 2562 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญคือ มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 35,982,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ประมาณ 221,500 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ต่างประเทศ ประมาณ 1,320,000 คน สร้างรายได้ให้ประเทศได้ 100,500 ล้านบาท ส่วนนักเดินทางชาวไทยที่เข้าร่วมงานไมซ์ในประเทศคาดว่าจะมีประมาณ 34,662,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ 121,000 ล้านบาท

กลยุทธ์การดำเนินงานดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจ โดยมุ่งสร้างรายได้จากกิจกรรมไมซ์เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกลุ่มภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดหลัก ส่วนตลาดรองคือ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และโอเชียเนีย พร้อมทั้งให้การสนับสนุนและประมูลสิทธิ์การจัดงานซึ่งเน้นงานระดับชาติและภูมิภาค โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายรัฐบาล (S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ, อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวง และอุตสาหกรรมดิจิทัล ตลอดจนจัดกิจกรรมโรดโชว์ Sale Mission การประชุมแบบ One on One กิจกรรม Familiarisation Trip กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ยกระดับเมกะอีเว้นท์ ตลอดจนพัฒนาและสร้างแบรนด์ไมซ์ไทยเชิงคุณภาพสำหรับตลาดในและต่างประเทศ พร้อมทั้งบริหารสื่อดิจิทัลให้ช่วยส่งเสริมการขายและภาพลักษณ์ไมซ์ประเทศไทย

2.การพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรม โดยด้านมาตรฐานนั้น TCEB ตั้งเป้าสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้การรับรองมาตรฐาน ISO และมาตรฐานสถานที่การจัดงาน หรือ Thailand MICE Venue Standard (TMVS) อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาบุคลากรด้วยการจัดอบรมหลักสูตรไมซ์นานาชาติและการจัดการไมซ์อย่างยั่งยืน พัฒนาการให้บริการด้านดิจิทัล พร้อมสนับสนุนให้เกิดการจัดงานที่มีการนำดิจิทัลเข้าไปใช้ ศึกษาการจัดตั้งศูนย์ให้บริการ One Stop Service ด้านไมซ์ และพัฒนาประสิทธิภาพต่าง ๆ ขององค์กรให้ทัดเทียมนานาชาติมากขึ้น

3.การกระจายรายได้และความเจริญ โดยจะทำการยกระดับการจัดงานในไมซ์ซิตี้ ส่งเสริมกิจกรรมการตลาดพร้อมโรดโชว์ในกลุ่มประเทศ CLMV/GMS และ SEZ ส่งเสริมการจัดงานไมซ์ในประเทศ สนับสนุนการประชุม และงานแสดงสินค้าในเมืองหลัก เมืองรอง พื้นที่ EEC และเมืองที่มีศักยภาพรองรับงานไมซ์ พร้อมจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ 3 ภาคเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการศึกษาหรือเกิดประโยชน์กับผู้ที่สนใจ

“ด้านการทำงานของ TCEB ยังจะเน้นการสร้าง Co-Creation หรือบูรณาการความร่วมมือกับสมาคม หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ เป็นการปรับบทบาทจากการเป็นผู้สนับสนุนด้านการตลาดสู่การเป็นผู้อำนวยความสะดวก ผู้พัฒนา ผู้นำร่วมสร้างสรรค์ และพันธมิตรทางธุรกิจ ควบคู่กับการพัฒนามาตรฐาน นวัตกรรม และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่านอกจากจะเป็นการรักษาพันธมิตรเดิมแล้วยังจะสร้างพันธมิตรใหม่เพิ่มขึ้น สอดรับกับการพัฒนาธุรกิจไมซ์ของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ Thailand : Redefine Your Business Events” นายจิรุตถ์ กล่าวในตอนท้าย

 

“ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” มิติใหม่แห่งแหล่งการเรียนรู้

alivesonline.com : “สวนลุมพินีคือสวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ถือเป็นพระราชมรดกที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานไว้ให้แก่ชาวพระนคร โดยมีจุดเริ่มต้นในปี 2468 ที่ทรงครองราชสมบัติครบ 15 ปี จึงทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างเป็นสวนพฤกษชาติเพื่อให้ประชาชนใช้ศึกษาและพักผ่อน โดยทรงเลือกบริเวณ “ทุ่งศาลาแดง” ซึ่งเป็นที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว พร้อมทรงสละพระราชสมบัติเป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่เพื่อขุดสระกว้างสร้างเกาะลอยกลางน้ำตัดถนน รวมถึงสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก ห้องสมุด และอื่น ๆ โดยพระราชทานชื่อว่า สวนลุมพินีหมายถึงสถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

 

ห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี จึงเป็นห้องสมุดประชาชนแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในสวนลุมพินี พื้นที่บริเวณด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อสร้างในปี 2498 และเปิดดำเนินการครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2499 มีลักษณะเป็นอาคารโครงสร้างเหล็กชั้นเดียว ขนาดพื้นที่ 499 ตารางเมตร

ในปี 2535 กรุงเทพมหานคร ได้ทำการปรับปรุงห้องสมุด โดยก่อสร้างอาคารใหม่เพิ่มเติมให้เป็นรูปตัวที (T) มีชั้นใต้ดิน ขนาดพื้นที่ 168 ตารางเมตร จนถึงปี 2549 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายพัฒนาห้องสมุดประชาชนกรุงเทพมหานคร ให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในนาม ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้” (Discovery Learning Library) จึงเริ่มมีการปรับปรุง “ห้องสมุดประชาชน สวนลุมพินี” ครั้งใหญ่ จนกระทั่ง วันที่ 4 ธันวาคม 2549 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” เพื่อให้เป็นห้องสมุดประชาชนสังกัด กรุงเทพมหานคร แห่งแรกที่ก้าวเข้าสู่ห้องสมุดมิติใหม่

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้นำคณะผู้แทนของ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2551 ด้านอาคารสถาบันและอาคารสาธารณะ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา ซึ่งจัดโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

ปัจจุบัน  “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” เปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปมาแล้วเป็นเวลา 62 ปี

กทม. จับมือ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย พัฒนา ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี

ด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำริในการพัฒนาห้องสมุดประชาชนให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กรุงเทพมหานคร จึงมีแผนงานนำร่องในการปรับปรุงและพัฒนา “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากสภาพที่ตั้งโครงการเดิมของ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี” มีลักษณะทางกายภาพเป็นอาคารชั้นเดียวก่อสร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย แบ่งเป็น 2 ส่วนคือชั้นบนและชั้นใต้ดินเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน โดยทางเข้าหลักจะเข้า-ออกผ่านทางอาคารสำนักหอสมุดด้านหน้าซึ่งติดกับถนนภายในของสวนลุมพินี พร้อมทั้งมีทางเชื่อมสู่ส่วน “โซนเด็กและเยาวชน” เป็นบันไดสู่ระดับที่อยู่ในชั้นใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมยุคโมเดริ์นที่มีรูปทรงเรียบง่าย

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร มีนโยบายปรับปรุงและพัฒนา “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ สวนลุมพินี” ภายใต้แนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต” ซึ่งในเบื้องต้นได้พัฒนาพื้นที่โซนเด็กและเยาวชน โดยได้รับความร่วมมือจาก ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เป็นผู้ให้การสนับสนุนและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้เกิด “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว เป็นโถงอาคารที่มีพื้นที่ดิน อาคารเป็นรูป “แมลงเต่าทอง” สีแดงสดใส ตั้งอยู่ใจกลางสวนลุมพินี เพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาอ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมทักษะต่าง ๆ สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

กรุงเทพมหานคร ขอขอบคุณ ธนาคารเอชเอสบีซี ที่ได้เข้ามาพัฒนาห้องสมุดสวนลุมพินีแห่งนี้ให้เป็นพื้นที่และแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในการทำกิจกรรมเพิ่มมากขึ้น ความร่วมมือครั้งนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการสร้างเสริมสาธารณประโยชน์เพื่อเด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนทั่วไป อันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตทางสังคมและเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป

ล่าสุด ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โดย นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ได้ทำพิธีส่งมอบ ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี และร่วมกับ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา

นายเคลวิน แทน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารเอชเอสบีซี ในฐานะธนาคารชั้นนำระดับโลกและธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน จึงได้ร่วมมือกับ สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร พัฒนา “ห้องสมุดประชาชนและศูนย์การเรียนรู้” ในเขตกรุงเทพมหานคร มาแล้วถึงสองแห่ง เพื่อกระตุ้นและปลูกฝังให้เยาวชนไทยรักการอ่าน โดยในปี 2555 ได้ช่วยสนับสนุนงบประมาณด้านการก่อสร้าง ห้องสมุดสีเขียว (Green Library) ภายในบริเวณสวนเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นห้องสมุดประชาชนสีเขียวแห่งแรกในเอเชียที่ได้รับรางวัลด้านอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับ LEED Platinum ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของมาตรฐานอาคารสีเขียวและได้รับการยอมรับในระดับสากล

นอกจากนี้ ในปี 2560 ยังได้สนับสนุนการปรับปรุงอาคารสำนักงานเก่าของกรุงเทพมหานครให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้สิ่งแวดล้อมเพื่อชีวิตคนเมือง” (Environmental Learning Centre for the Metropolitan) ภายในบริเวณสวนกีฬารามอินทรา เขตบางเขน เป็นการเพิ่มกิจกรรมทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการสวนกีฬารามอินทรา เพื่อศึกษาหาความรู้ด้วยการอ่านหนังสือและฝึกอาชีพด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมตลอดจนเป็นการเพิ่มพูนความรู้ด้านการบำรุงรักษาพืชพันธุ์ไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่กรุงเทพมหานครในระยะยาว

ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” อนุสรณ์รำลึก 130 ปี ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย

เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 130 ปีในการดำเนินงานของ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย ในปี 2561 ธนาคารฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อมของไทย เนื่องจากเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต จึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครอีกครั้ง โดยการปรับปรุง “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” ให้เป็น “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ที่ทันสมัยและมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวเป็นอาคารรูปเต่าทองสีแดงใจกลางสวนลุมพินีเพื่อดึงดูดให้เด็กและเยาวชนเข้ามาอ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ

ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงมีแนวคิดในการปรับปรุง “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” ให้มีลักษณะสื่อความหมายที่สนุก สดใส และสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการสะท้อนบุคลิกของเด็กและเยาวชนซึ่งถือเป็นผู้ใช้บริการหลัก พร้อมเพิ่มเติมการออกแบบ “กระดานลื่น” ในลักษณะ “สไลด์เดอร์”ภายในพื้นที่ โดยยึดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชนในการเพลิดเพลินกับการเรียนรู้ ตามแนวคิด “เพลิน” (Plearn) อันมีที่มาจากคำว่า “Play” คือการเล่น และคำว่า “Learn” คือการเรียนรู้ โดยใช้เวลา 3 เดือนในการปรับปรุงพื้นที่ 168 ตารางเมตรของชั้นใต้ดิน ให้มีคุณค่ามากกว่าการเป็นสถานที่รวบรวมสื่อเพื่อการเรียนรู้และหนังสือของเด็กและเยาวชนมากกว่า 1 หมื่นเล่ม

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จึงใช้งบประมาณส่วนหนึ่งที่จัดสรรไว้สำหรับการดำเนินงานกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปีเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบ “ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้สวนลุมพินี โซนเด็กและเยาวชน” โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ยั่งยืนของเด็กและเยาวชนไทย รวมทั้งเป็นอนุสรณ์สำคัญเนื่องในวาระการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 130 ปีของธนาคารฯ

ในส่วนของการปรับปรุงและพัฒนาภายนอกอาคารได้ใช้แนวความคิดในเชิงอุปมาอุปไมย (Metaphor Conceptual Design) โดยอาศัยลักษณะสีสันของ “แมลงเต่าทอง” (Lady Bug) ซึ่งเป็นแมลงที่มีเอกลักษณ์ภายนอกที่สดใส เพื่อให้เด็กและผู้คนทั่วไปเกิดการจดจำที่ง่าย โดยใช้ “สีแดง” เพื่อให้เป็นสื่อที่สร้างองค์ประกอบทางทัศนศิลป์ที่ตัดกับความเป็นสีเขียวของสวน เนื่องจากเห็นว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีโอกาสเห็นและสัมผัส “แมลงเต่าทอง” ไม่มากนัก เนื่องจากการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงในไร่และสวนจำนวนมากนั่นเอง

นอกจากการพัฒนาปรับปรุงตัวอาคารให้สวยงามทันสมัยแล้ว ธนาคารยังจะร่วมกับ กรุงเทพมหานคร สนับสนุนการจัดกิจกรรมเสริมทักษะความรู้ด้านต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชนอีกด้วย อาทิ การสอนทักษะภาษาอังกฤษ การให้ความรู้เรื่องการออมเงิน การจัดกิจกรรม D.I.Y. หรือการนำวัสดุสิ่งของเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นของที่ระลึก เป็นต้น” นายเคลวิน กล่าวเพิ่มเติม

การพัฒนา “ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” ใจกลางสวนสาธารณะจึงเป็นเสมือนเป็นการนำความรู้และจินตนาการกลับเข้าไปในพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้กลับมาใช้การจินตนาการผสานกับการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติสีเขียวซึ่งเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ“แมลงเต่าทอง” ในฐานะผู้ช่วยกำจัดเหล่าศัตรูพืช อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกถึงความสมดุลแห่งธรรมชาติ

ห้องสมุดเด็กและเยาวชนเอชเอสบีซี สวนลุมพินี” จึงเปรียบเสมือนตัวเชื่อมโยงประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนให้เข้ากับ “สวนลุมพินี” สวนสีเขียวใจกลางเมืองที่แสดงออกถึงความสมดุลควบคู่ไปกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน